กรุงเทพฯ 11 มี.ค. – รมว.อุตสาหกรรม แนะ SME D Bank “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” ยกระดับองค์กร เพื่อเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ด้าน SME D Bank ขานรับ ชูเรือธง “เติมทุนคู่พัฒนา” สนับสนุนเอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จ ส่งต่อคุณประโยชน์สู่ทุกภาคส่วน พาเศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ว่า ได้มอบนโยบายการทำงานแก่คณะกรรมการ และคณะผู้บริหาร SME D Bank ให้เดินหน้าสนับสนุนเอสเอ็มอี กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับ Thailand Vision ที่ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจใน 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์-สุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง ยานยนต์อนาคต ดิจิทัล และการเงิน โดยให้บริการด้านการพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อ พร้อมเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเครือข่ายพันธมิตรภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม
พร้อมขอให้ SME D Bank นำแนวทาง “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” มายกระดับขั้นตอนการทำงาน โดย รื้อ ลด และปลด สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี เช่น การพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับให้บริการกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทุกกระบวนการ และมุ่งสู่การเป็น Digital Banking โดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูล Data Warehouse และระบบ Core Banking System (CBS) ที่ธนาคารพัฒนาขึ้น เพื่อนำไปวิเคราะห์ วิจัย และประมวลผลให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (SME Insight) สำหรับกำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีต่อไป
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ SME D Bank กล่าวว่า SME D Bank พร้อมขานรับดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” ช่วยเอสเอ็มอีเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยด้าน “การเงิน” จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังเป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ผ่อนนานพิเศษสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน ช่วยลดภาระทางการเงิน
อีกทั้ง ใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนกลุ่มที่ไม่มีหลักประกันให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ ขณะเดียวกัน พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา SME D Bank ดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง สามารถพาเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 231,250 ล้านบาท ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 1 ล้านล้านบาท และช่วยรักษาการจ้างงานได้กว่า 752,345 ราย ควบคู่กับช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีกว่า 75,000 ราย อีกทั้ง ช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน (ฟ้า-ส้ม) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กว่า 83,520 ราย วงเงินรวมกว่า 145,240 ล้านบาท
ส่วนด้าน “การพัฒนา” ยกระดับศักยภาพเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ SME D Coach ที่เชื่อมโยงการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 50 แห่งมาไว้ในจุดเดียว เน้นเติมความรู้ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การตลาด 2.มาตรฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ 3. เทคโนโลยีและนวัตกรรม 4. การเงิน เขียนแผนธุรกิจ บัญชี ภาษี 5.การผลิต และ 6.บ่มเพาะเตรียมพร้อมเข้าสู่แหล่งทุน
ทั้งนี้ SME D Bank ยังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบให้แก่ประชาชนและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มรหัส 21 (วงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566) ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น พักชำระหนี้เงินต้น 1 ปี อีกทั้ง ระหว่างพักชำระเงินต้นจะได้ลดดอกเบี้ย 1% ต่อปี นอกจากนั้น ยกดอกเบี้ยผิดนัดให้ทั้งหมด และหากปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ 100% เป็นต้น สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2568 ณ สาขา SME D Bank ที่ใช้บริการสินเชื่อ
สำหรับปี 2567 SME D Bank ยังเดินหน้ากระบวนการ “เติมทุนคู่พัฒนา” พร้อมยกระดับนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้บริการเอสเอ็มอีได้คลอบคลุม และกว้างขวางยิ่งขึ้น ได้แก่ ระบบ Core Banking System (CBS) ที่สามารถให้บริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และแพลตฟอร์ม DX (Development Excellent) ระบบพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ สร้างสังคมของการเรียนรู้ e-Learning ศึกษาได้ด้วยตัวเอง 24 ชม. ช่วยเติมศักยภาพให้เอสเอ็มอีสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน.-517-สำนักข่าวไทย