กรุงเทพฯ12 ก.พ. –ปลัดพลังงาน พร้อมกระทุ้งสภาพัฒน์ อนุมัติโครงการโซลาร์ลอยน้ำ กฟผ. เพื่อเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ โดยหาก บอร์ด กฟผ.ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.พรุ่งนี้ ต้องเร่งเสนอ ชื่อ ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ ควบคู่ดูแลการเงิน การลงทุน และค่าไฟฟ้าของประชาชน
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หากที่ประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (13 ก.พ. ) เห็นชอบรายชื่อคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ชุดใหม่หลังจากกระบวนการสรรหา ล่าช้ามากว่า 4 เดือน เนื่องจากขั้นตอนการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจชุดใหม่ตามกฏหมายใหม่ของกระทรวงการคลัง มีการปรับเปลี่ยนที่แตกต่างไปจากเดิม
โดยสิ่งแรกที่คณะกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่จะเร่งพิจารณา คือ การเสนอ ครม.แต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566 ซึ่งบอร์ด กฟผ. จะมีมติเห็นชอบให้บุคคลเดิมที่ได้รับการเสนอชื่อ จากบอร์ดชุดเก่า คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่า กฟผ.หรือไม่ก็แล้วแต่ มติ บอร์ด กฟผ.จะเห็นชอบ
ส่วนปัญหาทางการเงิน ของ กฟผ.หลังจากที่ ได้รับภาระแทนประชาชนในการดูแลค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าราว 1 แสนล้านบาทนั้น ก็เป็นเรื่องที่ บอร์ด กฟผ.จะต้องเข้ามาพิจารณาเช่นกัน โดยต้องคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลในการดูแลค่าครองชีพประชาชน ควบคู่กับการดูแลภาระการเงินของ กฟผ. รวมทั้งโครงการส่งเสริมการลงทุนของ กฟผ.ที่จะต้องปรับรูปแบบการผลิตไฟฟ้าตามเทคโนโลยีใหม่ การลดการใช้ฟอสซิล โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ลอยน้ำที่ยังค้างการพิจารณาโครงการที่สภาพัฒน์ คงจะต้องดูว่าล่าช้าอย่างไร เพราะโครงการเหล่านี้ ถือว่าจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และ ส่งเสริมแผน ตามแผนความเป็นกลางทางคาร์บอนของรัฐบาลในอนาคต ในขณะเดียวกัน กฟผ.ก็ต้องเดินหน้าดำเนินการในเรื่องของการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. รวมไปถึงการจัดสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. เพื่อให้มีความชัดเจนโปร่งใสในการสั่งเดินเครื่องซื้อไฟฟ้า ที่ต้องต่ำสุดเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
“การบริหารสภาพคล่องของ กฟผ.นั้น ในขณะนี้หากดูแล้วจากเศรษฐกิจฟื้นตัวท่องเที่ยวเข้ามาทำให้การใช้ไฟฟ้าสูงกว่า ช่วงโควิด-19 แล้ว ทำให้ กฟผ.มีรายได้สูงขึ้น และมาตรฐานทางการเงินของ กฟผ. สามารถคงสถานะเงินสดไม่ให้ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทได้ แต่หากก็ต้องมีเงินมากขึ้นสำหรับการลงทุนเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ก็เป็นหน้าที่บอร์ด กฟผ. ผู้บริหารจะต้องมาหารือร่วมกัน ว่าจะบริหารทางการเงินอย่างไร โดยหนึ่งในโครงการลงทุนที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน คือ โครงการ แอลเอ็นจี เทอร์มินอล หนองแฟบ ที่ กฟผ. ร่วมลงทุนกับ บมจ.ปตท. สัดส่วน 50 : 50 ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี (MTPA) เงินลงทุนรวม ประมาณ 30,000 ล้านบาท” นายประเสริฐกล่าว
ทั้งนี้ กฟผ. จัดทำแผนลงทุนระบบ Hydro-Floating Solar Hybrid ใน 9 เขื่อน คือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนบางลาง เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนสิริกิติ์ กำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563 – 2580 โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและกำลังก่อสร้างคือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนอุบลรัตน์ และหลายโครงการยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาพัฒน์ฯ.-511 สำนักข่าวไทย