นนทบุรี 18 ม.ค.-อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ส่งเสริมสินค้า GI จังหวัดยะลา ผลักดันสินค้าชนิดใหม่ เข้าสู่ระบบการคุ้มครอง GI ยกระดับผลิตภัณฑ์ประมงน้ำจืด หนุนการท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยปลาพลวงชมพูต้นน้ำป่าฮาลาบาลา” และ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ตัวใหม่ของจังหวัด
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานลูกพันธุ์ปลานิลแก่กรมประมง ซึ่งขยายจากพันธุ์ปลาที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจากประเทศญี่ปุ่นถวายเมื่อปี 2508 โดยกรมประมงได้ขยายพันธุ์และแจกจ่ายราษฎรไปเพาะเลี้ยงเพื่อความอยู่ดีกินดีของปวงชนชาวไทย สร้างรายได้จนเป็นสัตว์เศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริมการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ปลาท้องถิ่นไทย เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนให้คนในท้องถิ่น โดยในปี 2543 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยะลา ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพู และน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีพระราชเสาวนีย์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเลี้ยงพันธุ์ปลาดังกล่าวเพื่อเป็นอาชีพสู่เกษตรกรในพื้นที่
กรมทรัพย์สินทางปัญญามีภารกิจสำคัญด้านการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าอัตลักษณ์ของชุมท้องถิ่นนำมาสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยในครั้งนี้ กรมฯ ลงพื้นที่จังหวัดยะลาเพื่อพบหารือเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยง “ปลาพลวงชมพูต้นน้ำป่าฮาลาบาลา” และ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” เพื่อผลักดันร่วมกับจังหวัดขึ้นทะเบียน GI นำมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องชาวยะลา”
“ปลาพลวงชมพูต้นน้ำป่าฮาลาบาลา” เป็นปลาท้องถิ่นหายาก พบมากในลุ่มแม่น้ำปัตตานีและลุ่มแม่น้ำสายบุรี ของจังหวัดยะลา สามารถเลี้ยงด้วยระบบน้ำไหลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ลักษณะเด่นคือลำตัวมีสีชมพู ครีบหลังและครีบหางเป็นสีแดง เนื้อปลามีลักษณะเนื้อนุ่มขาวเหมือนสำลี รสชาติหวานอร่อย เกล็ดมีสารคลอลาเจน จึงนิยมทานทั้งเกล็ด มีราคาสูงถึง 2,000 – 3,000 บาทต่อกิโลกรัม ด้าน “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” เพาะเลี้ยงมากในบริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรีของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีลักษณะเด่นคือส่วนหัวเล็ก ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน ลำตัวสีเทานวลจนถึงดำ เนื้อปลาแน่น สีขาวละมุน รสชาติหวาน ไม่มีกลิ่นโคลน เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลตลอดเวลาทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำสูงกว่าบ่อปลาทั่วไป ราคาขาย 90 – 100 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าผลักดันให้ “ปลาพลวงชมพูต้นน้ำป่าฮาลาบาลา” และ “ปลานิลสายน้ำไหลเบตง” ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดยะลา โดยคาดว่าทั้งสองสินค้าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาเที่ยวจังหวัดยะลา สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป และสำหรับชุมชนใดที่สนใจจะขึ้นทะเบียน GI สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368ได้ต่อไป.-514-สำนักข่าวไทย