กรุงเทพฯ 20 ต.ค. -รมช.คลัง ระบุเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก สศค.เสนอแผนเติมสุขภาวะทางการเงินให้ชาวบ้านรายย่อย
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนาวิชาการ Fis and Fin Forum 2023 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า เพื่อเป็นเวทีเสนอแนวคิดเชิงนโยบายของข้าราชการ สศค. พร้อมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินโยบายเศรษฐกิจการเงินการคลังของไทย
นับว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ระหว่างการฟื้นตัว ท่ามกลางความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว รัฐบาลจึงเดินหน้าสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมทักษะความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเงินของครัวเรือนไทย จึงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 เพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชน ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลัง เพื่อสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม หวังช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาทักษะทางการเงินยังมีข้อจำกัดหลายด้านโดยเฉพาะด้านทรัพยากรต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกีนหลายภาคส่วน ต้องอาศัยการพัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่และการจัดทำนโยบายแบบเฉพาะเจาะจงตามความเหมาะสม หรือ Data Driven Policy เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและต่อยอดการทำตามแผนปฏิบัติการฯ หวังเป็นเครื่องมือส่งเสริมสุขภาวะทางการเงิน (Financial Well-being) ของประชาชนและครัวเรือนไทย โดยนักเศรษฐกร สศค. เสนอ “แผนที่การเงินครัวเรือนไทย: เข็มทิศการพัฒนาทักษะทางการเงิน”
สศค. ได้เสนอเครื่องมือการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ สศค. มุ่งหวังว่า การนำเสนอผลงานวิชาการครั้งนี้จะช่วยพัฒนานโยบาย กลยุทธ์ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินประชาชน มุ่งเน้นการสร้างฐานข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาทักษะทางการเงิน อาทิ การศึกษาระดับทักษะทางการเงินเชิงพื้นที่ และการจัดทำดัชนีปัจจัยพื้นฐานทางการเงินเชิงพื้นที่ (SFFI) เพื่อมุ่งกลุ่มเป้าหมายควรได้รับการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วน ในภาคอีสาน ภาคเหนือ และชายแดนภาคใต้ จากนั้นเสนอ แบบจำลอง สมการถดถอยเชิงพื้นที่ (Spatial Regression Analysis) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับสุขภาวะทางการเงินผ่าน “ดัชนีรวมสุขภาวะทางการเงิน” เมื่อเชื่อมโยงผลการศึกษาทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ทำให้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของพื้นที่ต่าง ๆ ได้ .-สำนักข่าวไทย