กรมศุลกากร 16 ต.ค. – กรมศุลฯ ขานรับนโยบายนายกฯ สกัดลักลอบหมูเถื่อนทุกช่องทาง นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการกลางเร่งรัด ลงโทษผู้กระทำผิด
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี หารือกับหลายหน่วยงาน แก้ไขปัญหาการลักลอบการนำเข้าเนื้อสัตว์ ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมปศุสัตว์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร นายกรัฐมนตรีฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการกรมศุลกากร เข้มงวดการลักลอบตามแนวชายแดน และการหลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศในทุกช่องทาง ด้วยการสำแดงสินค้านำเข้าเป็นเท็จ เช่น แจ้งนำเข้าปลา แต่นำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วน ซ่อนเอาไว้ในตู้คอนเทนเนอร์
นอกจากนี้ ยังให้เร่งรัดติดตามการดำเนินคดี ยึดทรัพย์ ผู้กระทำความผิดและผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และหากมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องเอาผิดทั้ง ด้านวินัยและคดีอาญาให้ถึงที่สุด นายกรัฐมนตรี สั่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อเร่งรัด และตรวจสอบการการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยง สุกรเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ 4.7 ล้านกิโลกรัม ดีเอสไอรับผิดชอบดำเนินคดี ผู้นำเข้า 10 ราย ซึ่งได้สำแดงนำเข้าปลา แต่ลักลอบนำเข้าเนื้อหมู และเครื่องใน จากบลาซิล และอาเจนตินา นายกรัฐมนตรีกำชับลักลอบ หลีกเลี่ยงนำเข้าสินค้าเกษตร ต้องทำอย่างเข้มงวด
“เมื่อเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรี กรมศุลกากรจึงดำเนินการอย่างเร่งด่วน สั่งการให้ทุก ด่านศุลกากร เข้มงวด เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยง ต้องดูละเอียดถึงทุนจดทะเบียนผู้นำเข้า หากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ประวัติการนำเข้า-ส่งออกดี จะได้ใบรับรอง Green Line ปกติจะได้รับการผ่อนผันการตรวจเข้มร้อยละ 80 จึงต้องเช็กประวัติการกระทำผิด การตรวจตู้สินค้าแช่เย็น ซุกซ่อนสินค้าอื่นหรือไม่ หากเป็นรายย่อยต้องตรวจละเอียดมากขึ้น” โฆษกกรมศุลกากร กล่าว
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการควบคุมการลักลอบ หลีกเลี่ยง นำเข้าสินค้า เนื้อสัตว์จากต่างประเทศ ได้เพิ่มการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้าสินค้าล่วงหน้าจากบัญชีสินค้า (Manifest) (Manifest คือ บัญชีสินค้านำเข้าที่ผู้รับขนส่งยื่นต่อศุลกากรเพื่อแสดงรายละเอียดของที่รับบรรทุก) เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ เช่น ตู้แช่เย็น สินค้าเกษตร ทุกชนิด ทุกรายการ ทุกใบขนสินค้า อาจต้องเปิดตรวจ หรือเอกซเรย์ทุกตู้คอนเทนเนอร์ หากพบผู้นำเข้า ลักลอบ/หลีกเลี่ยง นำเข้าเนื้อสุกร เนื้อโค เนื้อกระบือ จากต่างประเทศ จะส่งเรื่องดำเนินคดีกับ พนักงานสอบสวน
สำหรับ สถิติการจับกุมกรณีลักลอบและหลีกเลี่ยงศุลกากร กรณีเนื้อสุกรและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสุกร ในปีงบประมาณ 2564 มีการจับกุม 14 ราย น้ำหนัก 236,177 กิโลกรัม ปีงบประมาณ 2565 มีการจับกุม 25 ราย น้ำหนัก 431,660 กิโลกรัม และปีงบประมาณ 2566 มีการจับกุม 181 ราย น้ำหนัก 4,772,073 กิโลกรัม.-สำนักข่าวไทย