กรุงเทพฯ 5 ก.ค.- ที่ปรึกษาจัดงานฟาสต์ ออโต้ โชว์ แอนด์ อีวี ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ สนับสนุนด้านราคาต่อไปอีก 2 ปี เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในรถยนต์ไฟฟ้า
ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ที่ปรึกษาจัดงานฟาสต์ ออโต้ โชว์ แอนด์ อีวี ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป ที่กำลังจัดงานฟาสต์ฯระหว่างวันที่ 5-9 กรกฎาคม ที่ไบเทค บางนา เปิดเผยว่า อยากจะให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ต่อสัญญามาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ออกไปอีก 2 ปีเพื่อเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ประมาณ 2 แสนคัน และการสนับสนุนของรัฐบาลใหม่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้ามาขายในเมืองไทย ช่วงที่ผ่านมาจะมีราคาไม่ถึง 4 แสนบาทไปจนถึงราคา 2 ล้านบาท โดยมีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วไม่ได้จะต้องใช้เวลาเพราะผู้ใช้รถยนต์ยังชื่นชอบอยู่กับรถยนต์แบบเก่า นอกจากนี้โดยส่วนตัวมองว่า รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ไม่ค่อยมีเสน่ห์จากรูปทรงที่เป็นกล่องและเสียงของเครื่องยนต์ไม่เร้าใจเหมือนกับรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์แบบเดิม
ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนด้านราคาอีวีของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2566 นี้ ดังนั้น เดือนต.ค. 2566 นี้หากไม่มีการต่อมาตรการอีวี ราคาขายรถอีวี อาจแพงขึ้น เนื่องจาก 2 นโยบายกระตุ้นการใช้รถอีวีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนรถยนต์ EV 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน และ รัฐบาลลดภาษีนำเข้า และ ภาษีสรรพสามิตต่างๆ ให้กับค่ายรถอีวีที่นำเข้ารถมาขายในประเทศไทย ทั้งนี้ อาจส่งผลให้ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน อาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น และ อาจจะต้องปรับราคาขายรถให้สูงขึ้นชดเชยสัดส่วนเงินสนับสนุนที่จะหายไป 70,000 – 150,000 บาท เนื่องจากปัจจุบันราคารถอีวี เป็นราคาที่รวมส่วนลดแล้ว ดังนั้น ถ้านโยบายส่งเสริมต่างๆหมดอายุ รถอีวี รุ่นต่างๆก็อาจจะกลับไปที่ราคาตั้งต้นก่อนได้รับส่วนลด เป็นต้น
สำหรับมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีทั้งการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 3 กลุ่ม คือ เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน , การลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% , ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 , ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
โดยมีข้อผูกผันในการผลิตและการใช้ชิ้นส่วนสำคัญในประเทศ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ได้เห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายในการผลิตรถอีวีให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยภายในปี 2573 .-สำนักข่าวไทย