กรุงเทพฯ 24 พ.ค. – สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเร่งรวบรวมปัญหาและข้อเสนอต่างๆ ยื่นต่อรัฐบาลใหม่ให้ช่วยแก้ไข รวมถึงการพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน ตามที่ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลบรรจุวาระดังกล่าวใน MOU โดยเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงาน 3 คณะพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงซึ่งมีเกือบ 500 ฉบับ บังคับใช้โดย 7 กระทรวงและอีก 2 หน่วยงาน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยกล่าวว่า วันนี้ (24 พ.ค.) สมาคมจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดทำข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลใหม่ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาภาคประมงที่สั่งสมมานาน ตามที่แกนนำ 8 พรรคการเมืองบรรจุวาระการแก้ไขปัญหาภาคประมงในบันทึกความตกลงร่วม (MOU) ข้อ 18 ที่ระบุถึงการแก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
สำหรับปัญหาหลักที่สมาชิกของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยทั้ง 58 องค์กร ตลอดจนชาวประมงที่อยู่ในเครือข่ายทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลต้องการให้เร่งดำเนินการคือ การแก้ไขปรับปรุงระเบียบและประกาศกฎกระทรวงที่เป็นกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องการประมงเนื่องจากมีเป็นจำนวนมากบังคับใช้โดย 7 กระทรวงและ 2 หน่วยงาน รวมแล้วเกือบ 500 ฉบับ ที่สำคัญคือ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และระเบียบกรมประมงรวม 377 ฉบับ กฎหมายด้านแรงงาน 51 ฉบับ กฎหมายของกรมเจ้าท่า 47 ฉบับ นอกจากนี้ยังกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย กฎหมายที่บังคับใช้โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และระเบียบที่บังคับใช้โดยกสทช.
ที่ผ่านมาขั้นตอนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการออกทำการประมง ซึ่งมีความซ้ำซ้อนมาก เช่น การแจ้งเข้าแจ้งออกของเรือประมง นอกจากนี้โทษจากความผิดพลาดในการปฏิบัติกรณีกระทำความผิดที่ไม่มีเจตนา เป็นโทษหนักเกินไป เช่น เกี่ยวกับการติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) หรือการพลัดหลงเข้าไปในเขตทะเลชายฝั่ง
สำหรับโทษในประกาศกระทรวงหลายฉบับอาจต้องเสียเงินค่าปรับเป็นเงินจำนวนหลักแสนบาทหรือหลายล้านบาท อีกทั้งยังอาจจะถูกสั่งยึดสัตว์น้ำที่ไปทำการประมงอย่างถูกต้องทั้งหมดในแต่ละครั้งอีกด้วย นอกจากนี้เรือที่ถูกแจ้งความร้องทุกข์จะถูกอายัดเรือไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ทำให้ไม่สามารถทำมาหากินได้ ถ้าผู้ประกอบการมีเรือหลายลำ เมื่อเรือต้องคดี 1 ลำ ลำอื่นไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ โทษจากการกระทำผิดวิธีปฏิบัติในประกาศกระทรวงบางฉบับ อาจถึงกับถูกพักใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตอีกด้วย โดยไม่มีโอกาสต่อสู้คดีอีกด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานขึ้น 3 คณะเพื่อพิจารณารายละเอียดของกฎหมายหลักๆ 3 กลุ่มคือ กฎหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฎหมายด้านแรงงาน และกฎหมายของกรมเจ้าท่า ซึ่งจะดูว่า กฎหมายและระเบียบใดควรปรับปรุง ตลอดจนมีข้อใดควรยกเลิก จากนั้นโดยคณะทำงานจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณกรรมการสมาคมเพื่อรวบรวมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ต่อไป
นายมงคลกล่าวต่อว่า สมาคมออกแถลงการณ์ขอบคุณ 8 พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลในการที่บรรจุวาระการแก้ไขปัญหาภาคประมงใน MOU สมาชิกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ชาวประมง และครอบครัวของผู้ประกอบการประมงทั้งหมดรู้สึกปลาบปลื้มและปิติยินดีอย่างสุดซึ้งที่ทุกพรรคการเมืองได้มองเห็นถึงความสำคัญภาคการประมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้ว จะเร่งแก้ไขปัญหา ช่วยฟื้นฟู เยียวยาความเดือดร้อนที่สั่งสมมานานกว่า 8 ปีและช่วยพัฒนาอาชีพประมงให้มีความยั่งยืนและเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต.-สำนักข่าวไทย