กรุงเทพฯ 26 เม.ย.- ไทย-ญี่ปุ่น โดย ฮิตาชิ – กฟผ. ร่วมเดินหน้าประเทศไทยสู่ Carbon Neutrality นำเทคโนโลยีOPENVQ ใช้ควบคุมแรงดันไฟฟ้า ในระบบส่งไฟฟ้า รองรับพลังงานหมุนเวียน (RE) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดความสูญเสียพลังงาน
นายนาชิดะ คาซูยะ (H.E. Mr. Nashida Kazuya) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ดร.ชูจิ ยูมิโทริ (Dr. Shuji Yumitori) กรรมการบริหาร องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายคาสึยะ นากาโนะ (Mr. Katsuya Nagano) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮิตาชิ จำกัด และ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมพิธีเปิดโครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ Optimized Performance Enabling Network for Volt/Var(Q) (OPENVQ) กับระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.
เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ กับระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. เป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยที่ตอบสนองต่อเป้าหมายCarbon Neutrality โดยนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศและอาศัย จุดแข็งของแต่ละประเทศ ตอกย้ำการตระหนักถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และหวังว่าภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศจะร่วมกันยกระดับประสิทธิภาพการเชื่อมโยงในภาคพลังงานระหว่างกันต่อไป
ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเสริมว่า การควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ จะส่งผลต่อความผันผวนในระบบไฟฟ้าการควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้ได้อย่างเหมาะสมรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน ช่วยลดความสูญเสียพลังงานในระบบส่งไฟฟ้าและนำไปสู่การลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดลงตามไปด้วย โดยไทยมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2040 และมุ่งสู่Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050
กฟผ. ได้ร่วมมือกับบริษัท ฮิตาชิ จำกัด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก NEDO ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินโครงการสาธิตเทคโนโลยีควบคุมแรงดันไฟฟ้าโดยใช้ OPENVQ กับระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. ร่วมกันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งการดำเนินโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความสูญเสียพลังงานในระบบส่งไฟฟ้าได้ประมาณ 8-9% โดยยังคงไว้ซึ่งความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและความมั่นคงในระบบไฟฟ้ารองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจวัด เชิงปริมาณของผลการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลไกเครดิตร่วม (Joint Credit Mechanism: JCM) ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย