กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. เพิ่มจ่ายเงินสะสมสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และเงินสมทบตามช่วงอายุไม่เกิน 1,800 บาท/ปี เข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตั้งแต่ 1 ม.ค.66 สร้างแรงจูงใจ กระตุ้นการออม
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. ปรับเพิ่มให้สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จ่ายเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/ปี และให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำหรับสมาชิกในอัตราที่กำหนดตามช่วงอายุไม่เกิน 1,800 บาท/ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้
- การจ่ายเงินสะสมสูงสุดของสมาชิกขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 30,000 บาท/ปี (จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2558 เดิมขั้นต่ำ 50 บาท แต่เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 13,200 บาท/ปี) ซึ่งเพิ่มขึ้นอีก 16,800 บาท
- การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาล
- สมาชิกอายุไม่เกิน 30 ปี บริบูรณ์
ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาท/ปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 600 บาท/ปี) - สมาชิกอายุเกิน 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 50 ปีบริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 80 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาท/ปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 960 บาท/ปี)
- สมาชิกอายุเกิน 50 ปีบริบูรณ์ ในอัตราร้อยละ 100 ของเงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,800 บาท/ปี (จากเดิมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,200 บาท/ปี)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเพิ่มจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบ เป็นมาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ประมาณ 19 ล้านคนทั่วประเทศ ให้เข้าร่วมกองทุน ซึ่งเป็นการออมร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน รวมทั้งกระตุ้นสมาชิก กอช. เพิ่มการออม สร้างความมั่นคงในอนาคตให้สมาชิกมีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัยในอัตราที่เพิ่มขึ้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียังเน้นเป้าหมายของกองทุนฯ มุ่งให้การดูแลบุคคลที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ อย่างเช่น เกษตรกร โดยหวังให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังมีรายได้ในการดำรงชีวิตในยามชรา ซึ่งในปี 2566 มีสมาชิก กอช. ประมาณ 2,575,000 คน
กระทรวงการคลัง ยังประเมินว่า จำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น โดยสมาชิก กอช. ที่เริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 60 ปี จะมีโอกาสได้รับเงินบำนาญประมาณ 12,000 บาท/เดือน ในกรณีส่งเงินสะสมเต็มเพดานเงินสะสม โดยเงินบำนาญที่คาดว่าจะได้รับขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในบัญชี ประกอบด้วยเงินสะสมของสมาชิก เงินสมทบจากรัฐ และผลตอบแทนจากการนำเงินดังกล่าวไปลงทุน. – สำนักข่าวไทย