สถานีกลางฯ 16 ม.ค. – คนขับแท็กซี่แห่นำรถมาปรับจูนมิเตอร์ตามค่าโดยสารใหม่ เผยค่าโดยสารใหม่ขึ้นน้อยไปไม่ทันค่าครองชีพ-ราคาพลังงาน แถมถูกเรียกเก็บค่าจูนมิเตอร์ 300-350 บาท ด้าน ปธ.กมธ.แรงงาน รุดสังเกตการณ์ เตรียมเชิญผู้เกี่ยวข้องหาทางออก 18 ม.ค.นี้
บรรยากาศที่สถานีกลางบางซื่อ(สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) เช้าวันนี้ บรรดาคนขับรถแท็กซี่ พากันนำรถแทกซี่ มาปรับจูนมิเตอร์ ให้เป็นอัตราค่าโดยสารใหม่ ตามประกาศของกระทรวงคมนาคม พร้อมให้เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบความถูกต้องของมิเตอร์ ก่อนออกให้บริการประชาชน
โดยวันนี้แม้จะมีคนขับรถแท็กซี่นำมิเตอร์มาปรับจูนเป็นจำนวนมาก โดยพากันมารอรับบัตรคิวกันตั้งแต่ 6.00 น แต่พบว่าการให้บริการ ที่เริ่มเปิดตั้งแต่เวลา 8:00 น.ถึงเวลา 17.00 น.เป็นไปด้วยความสะดวกเรียบร้อย แต่ต้องใช้เวลาเข้าคิวรอปรับจูนมิเตอร์ ของบริษัทเอกชนซึ่งมี 4 บริษัท จากนั้นจึงให้เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งฯตรวจสอบและผนึกซีลตะกั่ว เฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง
ขณะที่คนขับรถแท็กซี่มิเตอร์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าแม้จะดีใจที่ได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสาร หลังไม่ได้ปรับขึ้นมาถึง 8 ปี แต่การปรับขึ้นครั้งนี้ก็ยังมองว่าน้อยเกินไป เพียงกิโลเมตรละ 50 สตางค์ และยังไม่ได้ปรับอัตราค่าโดยสารขั้นต่ำเป็น 40 บาทเหมือนกับรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพและค่าเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมัน,ก๊าซNGV และ LPGที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันการปรับจูนมิเตอร์ในครั้งนี้ยังมีการเรียกเก็บค่าบริการจากบริษัทเอกชนทั้ง 4 แห่ง มิเตอร์ละ 300-350 บาท ซึ่งมองว่าเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินไป เช่นเดียวกับใบแสดงอัตราค่าโดยสารใหม่ใบละ 50 บาทที่บังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันต้องมีติดรถ ขณะเดียวกันยังไม่มีการแจ้งล่วงหน้าด้วย
นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ว่าการปรับจูนมิเตอร์ครั้งนี้ ทำให้คนขับรถแท็กซี่ต้องเดือดร้อน เสียเวลาทำมาหากินและยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงเกินจริง จึงเดินทางมาสังเกตการณ์ และพบว่า คนขับรถแท็กซี่ต้องเสียเวลาในการมาปรับจูนตรวจสอบ เป็นเวลานาน หลายคนมากันตั้งแต่ เวลา 06.00 น.ใช้เวลา 2-6 ชั่วโมงกว่าจะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันยังมีการเรียกเก็บค่าบริการปรับจูนมิเตอร์ คันละ 300 ถึง 350 บาท ซึ่งมองว่าแพงเกินไปไม่สมควรเก็บแทกซี่ที่มีกว่า 80,000 คัน รวมๆต้องเสียค่าบริการกว่า 24 ล้านบาท ขณะที่การปรับจูนสามารถใช้บริการของสถาบันการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยที่อาจเสียค่าบริการที่น้อยกว่า หรือไม่ต้องเสียเลย ขณะเดียวกันยังมีการนำใบประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่ มาบังคับให้ผู้ขับรถแท็กซี่ซื้อในราคาใบละ 50 บาท ซึ่งแพงเกินจริง
ทั้งนี้ ในวันที่ 18 มกราคมนี้ กรรมาธิการการแรงงานจะมีการเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง.คมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้.-สำนักข่าวไทย