กรุงเทพฯ 21 พ.ย.- “ศักดิ์สยาม” เป็นประธานลงนาม MOU ตำรวจสอบสวนกลาง และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลแบบเรียลไทม์ เฝ้าระวังและป้องกันปราบปรามเหตุร้ายและอาชญากรรม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลในระบบสารสนเทศ ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย แก่ประชาชนที่ใช้ทางพิเศษ ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้ทาง โดยปัจจุบัน กทพ. มีปริมาณผู้ใช้ทางพิเศษ เฉลี่ยมากถึง 1.8 ล้านคัน/วัน สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์และแลกเปลี่ยนข้อมูลในระบบสารสนเทศ ระหว่าง กทพ. และ บช.ก. โดย กทพ.จะทำการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้ทางพิเศษและข้อมูลอื่น ๆ จากฐานข้อมูลระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) ฐานข้อมูลระบบ Data Exchange Center และฐานข้อมูลระบบ Automatic Lane Control ในขณะที่ บช.ก. จะจัดให้มีมาตรการในการปกป้องคุ้มครองข้อมูลดังกล่าวมิให้ถูกละเมิด เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่า ความร่วมมือหลังจากการ MOU จะทำให้การป้องกันปราบปรามปัญหาอาชญากรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีที่มีรถยนต์ของคนร้ายหนีการจับกุม ขึ้นระบบทางด่วน เจ้าหน้าที่สามารถทราบความเคลื่อนไหวว่ารถอยู่ในจุดใด และกำลังมุ่งหน้าไปไหน นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการจารกรรมรถยนต์ เช่น แต่ละปีมีรถที่ถูกจารกรรมไป จำนวน 5,000 คัน คงเป็นการยากที่จะหากำลังเจ้าหน้าที่ไปไล่ติดตามรถทั้ง 5,000 คันได้ แต่เมื่อมีรถคันใดในจำนวนดังกล่าววิ่งขึ้นระบบทางด่วน เมื่อมีการเชื่อมโยงแบบเรียลไทม์ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ระบบทางด่วนและตำรวจทราบ สามารถนำไปสู่การติดตามจับกุมได้. – สำนักข่าวไทย