กกพ.จับมือเทลสกอร์ใช้พลังอินฟอเลนเซอร์สร้างความตระหนักใช้พลังงานสะอาด

กรุงเทพฯ 28 ธ.ค. กกพ. สนับสนุน เทลสกอร์ ดึงพลังอินฟลูเอนเซอร์ส่งเสริมพลังงานสะอาด ส่งเสริมการตระหนักรู้และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า ภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้การสนันสนุนเทลสกอร์ และภาคีจากภาครัฐและเอกชนรวม 25 องค์กร จัดทำโครงการด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด 26 โครงการ  ภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน มุ่งส่งเสริมให้สังคมและประชาชนมีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมด้านไฟฟ้า และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานสะอาด (Clean Energy)  นายบัณฑูร  เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  กล่าวว่า พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้(Affordable and Clean Energy) เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ดังนั้น กกพ. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการพลังงานด้านกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติ จึงต้องการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านพลังการสื่อสาร ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคมไทยและคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งนี้จากความสำเร็จของโครงการในปีที่แล้วเพื่อสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยใช้กลยุทธ์การสื่อสารทุกมิติ จนก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมทางสังคม สู่การปรับใช้จริงในชีวิตประจำวัน เราจึงเดินหน้าต่อยอดไปสู่กลยุทธ์การสื่อสารอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2563 – 2564 โดยมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจจนก่อเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสร้างเครือข่ายใหม่จากพลังงานหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของโครงการสื่อสารในปีนี้คือการดึงอินฟลูเอนเซอร์จากหลากหลายวงการเข้ามาช่วยเผยแพร่เนื้อหาผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มในวงกว้าง “ผลสำเร็จของโครงการภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน  จะสร้างประโยชน์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยดีขึ้นจากการใช้และผลิตพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ยังนำไปสู่การเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้สร้างผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทุกคนในสังคมไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ท้ายสุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกนี้จะช่วยพัฒนาสังคมไทยให้เกิดสมดุลในทุกมิติ และเชื่อมโยงสังคมทุกระดับ จากครัวเรือนสู่ชุมชน สู่สังคมโดยรวมและสู่ระดับโลก บนเส้นทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน”   นอกเหนือจากการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนแล้ว เป้าหมายสูงสุดของแนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยสนับสนุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล 77 แห่งทั่วประเทศไทย ผ่าน“มูลนิธิแพทย์ชนบทเพื่อไฟจากฟ้า” ซึ่งต้นทุนสำหรับการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์กำลังผลิต 100 กิโลวัตต์นั้น สามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้เดือนละประมาณ 60,000 บาท ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี โรงพยาบาลจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าได้ราว 720,000 บาท โดยต่อ 1 โรงพยาบาล ใช้งบประมาณไม่เกิน 4 ล้านบาทในการติดตั้งและเนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีอายุการใช้งาน 25 ปี จึงสามารถช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 18 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาการใช้งาน โดยส่วนต่างจากการจ่ายค่าไฟที่น้อยลง สามารถนำไปจัดหาอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนอย่างยั่งยืน การสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เทลสกอร์ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้คัดสรรอินฟลูเอนเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลด้านการสื่อสารให้ตอบโจทย์และส่งเสริมการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ โดยงานครั้งนี้เทลสกอลได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงาน กกพ. ในการทำหน้าที่ดึงพลังการสร้างสรรค์ของอินฟลูเอนเซอร์มาใช้ในการเชื่อมต่อและถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจง่ายให้กับประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะเยาวชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน นางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า เทลสกอลจะส่งต่อความรู้เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานงานสะอาด ผ่านแคมเปญการสื่อสารที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ รวมไปถึงกิจกรรมประชาสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบที่ได้รับความร่วมมือจากผู้มีอิทธิพลด้านการสื่อสารชั้นนำจากหลายวงการ ที่จะหยิบยกประเภทพลังงานทดแทนและหัวข้อสื่อสารที่สำคัญเพื่อแสดงถึงตัวอย่างของพลังงานสะอาดและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยแคมเปญการสื่อสารจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564-สำนักข่าวไทย.

ทรูอัพเดทคลื่นความถี่ครบ 7 ย่าน

กรุงเทพฯ 28 ธ.ค. ทรู มีคลื่นความถี่ครบ 7 ย่านหลัง ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรก เล็งเพิ่มสัญญาณ 5G ต่อ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดย พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร (ที่5 จากขวา) ประธานคณะกรรมการ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร กสทช. ร่วมรับมอบเงินค่าประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกกะเฮิรตซ์ ช่วงความถี่ 703-713 เมกกะเฮิรตซ์คู่กับ 758-768 เมกกะเฮิรตซ์ที่ได้รับการจัดสรรเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562 จาก บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดย นายจักรกฤษณ์อุไรรัตน์ (ที่5 จากซ้าย) ผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จำนวน 1,881.488 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) พร้อมกับหลักประกันการชำระเงินค่าคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงินจำนวน 16,933.392 ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) ตามเงื่อนไขการรับใบอนุญาต ทรู 5G พร้อมเพิ่มสัญญาณบริการ 5G บนคลื่นความถี่ 700 เมกกะเฮิรตซ์ ทันทีหลังได้รับใบอนุญาตฯ ในพื้นที่ที่ กสทช. ได้ดำเนินการปรับปรุงสัญญาณทีวีดิจิทัลเพื่อใช้ในงานด้านโทรคมนาคมแล้ว ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ ทรูมูฟ เอช มีคลื่นย่านความถี่ต่ำครบทั้ง 3 ย่านความถี่ คือ700 เมกกะเฮิรตซ์, 850 เมกกะเฮิรตซ์และ 900 เมกกะเฮิรตซ์ เพิ่มศักยภาพการให้บริการที่ครอบคลุมและสามารถทะลุทะลวงเข้าถึงภายในอาคารได้ดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผสานการให้บริการบนคลื่นครบทั้ง  7 ย่านความถี่ โดยเฉพาะคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ ที่เปิดให้บริการ ทรู 5G อยู่แล้ว -สำนักข่าวไทย.

ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 144 คน ติดเชื้อในประเทศ 115 คน

สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 144 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 6,285 ราย หายป่วยแล้ว 4,180 ราย เสียชีวิตสะสม 60 ราย

อนุทิน ตรวจโควิด -19 ผลเป็นลบ กักตัว 14 วัน

อนุทินได้รับรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ติดโควิด-19แล้ว คนใกล้ชิดเผย ไปตรวจหาเชื้อแล้ว ผลเป็นลบ กักตัว 14 วัน ตามมาตรการสาธารณสุข พรุ่งนี้ (29 ธ.ค.) ไม่เข้าประชุม ครม.

คาดโควิด-19 ฉุดอุตสาหกรรมอาหารฟื้นตัวช้า

กทม. 28 ธ.ค.63- สกสว. เผยผลวิจัยคาดการณ์การระบาดของโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมอาหารฟื้นตัวช้า นักวิจัยเสนอภาครัฐมุ่งใช้เทคโนโลยีพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่ออนาคต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. เปิดเผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤตโควิด19 พบข้อมูลภาคอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ นักวิจัยโครงการการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมหลังวิกฤต COVID-19 สกสว. กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 แต่ยังน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ผลการวิเคราะห์ผู้ประกอบการเปราะบางสูงและเปราะบางคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 68 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเกิด shock ขึ้นผู้ประกอบการดังกล่าวอาจไม่สามารถที่จะบริหารธุรกิจโดยเฉพาะในส่วนของความเพียงพอทางด้านเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งในอุตสาหกรรมอาหารผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โรงแรมและสายการบิน ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผู้ประกอบการที่ถูกกระทบหนัก โดยระยะสั้นผู้ประกอบการเหล่านี้ยังคงต้องการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการที่ช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ สินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำอย่าง soft loan ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอาหารต้องการและยังเข้าถึงในสัดส่วนที่ต่ำ อย่างไรก็ตามการเพิ่มวงเงินค้ำประกันของรัฐบาล และข้อจำกัดการค้ำประกัน จะยังเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มการปล่อยสินเชื่อได้ โดยที่อีกส่วนหนึ่งใช้มาตรการภาษี โดยให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิด shock มาคำนวณผลกำไรขาดทุนได้ในปีถัดๆไป  อีกส่วนคือการปรับโครงสร้างหนี้และการพักชำระหนี้ ทั้งนี้รัฐบาลต้องเร่งให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการเพื่อพัฒนาประเทศในระยะปานกลาง (ยาว) เพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยังมีอยู่อย่างจำกัด โครงการเกษตรและอาหารภายใต้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทยังคงมีอยู่เพียงประมาณร้อยละ 8 ของวงเงินงบประมาณ และการกระจายตัวของโครงการยังกระจุกตัวอยู่เพียงการพัฒนาการผลิต แต่โครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงพันธ์พืช และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการจัดจำหน่ายยังมีอยู่จำกัด จึงต้องเร่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเป็นระบบในอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 สามารถมุ่งพัฒนาให้ไทยเป็นแหล่งการผลิตอาหารอนาคตที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตโปรตีนทางเลือก ต้นทุนและคุณภาพของวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สำคัญ  วัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่ไทยยังต้องนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง ข้าวโพด มันฝรั่ง และมีการกระจุกตัวของประเทศที่ไทยนำเข้าอยู่เพียงไม่กี่ประเทศ  ทั้งนี้สินค้าส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นสินค้าที่ยังมีการคุ้มครองที่สูงโดยเฉพาะการจำกัดโควตาการนำเข้าและการตั้งภาษีนอกโควตาในอัตราที่สูง การขยายปริมาณโควตาอย่างเป็นระบบและค่อยๆปรับลดอัตราภาษีนอกโควตาพร้อมไปกับการพัฒนาการผลิตของภาคเกษตรน่าจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพของวัตถุดิบในประเทศ   ขณะที่การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอีกเรื่องที่ควรเร่งเดินหน้าทั้งในส่วนของการผลิตบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอาหารต้องควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพในห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารและบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและให้บริการแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก ที่ต้องการความช่วยเหลือของภาครัฐในส่วนของห้องปฏิบัติการตรวจสอบอาหารยังมีขั้นตอนยุ่งยากรัฐอาจต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาการตรวจสอบคุณภาพอาหารให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น  ช่วยให้ความรู้กับ SMEs ในเรื่องของการตรวจสอบสุขอนามัยในสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศผู้นำเข้าซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศเป็นเรื่องสำคัญเพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกประเทศให้ความสำคัญทางด้านความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดยภาครัฐควรต้องมีแผนชัดเจนเพื่อรองรับและถ่ายโอนแรงงานที่อาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอีกด้วย สำหรับบทเรียนสำคัญอย่างหนึ่งจากวิกฤตโควิด-19 คือ การกระจายความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการและพัฒนาศักยภาพการผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระจายตลาดส่งออกเดิมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เปิดตลาดผ่านกรอบความตกลงการค้าเสรีทั้งในตลาดหลักอย่างยุโรป และสหรัฐฯ หรือตลาดรองอย่างประเทศในกลุ่มแอฟริกาจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิต รวมทั้งภาครัฐ อาจจำเป็นต้องเปิดการแสดงสินค้าอาหารในตลาดต่างประเทศด้วย

เตือนประชาชนเดินทางปีใหม่เคารพกฎจราจร

“พล.อ.ประวิตร” ย้ำประชาชนเคารพกฎจราจร ลดความสูญเสียปีใหม่ ถ้าเดินทางให้เว้นระยะห่างป้องกันโควิด-19 แต่ถ้าไม่จำเป็นควรงดออกจากบ้านเพื่อลดความเสี่ยง ไม่จัดงานเลี้ยงขนาดใหญ่

ขีดเส้น 3 วัน แจงบ่อนระยอง

ปภ. 28 ธ.ค.-  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายาประจำปี 2563 ว่า “ป้อมไม่รู้โรย”  ว่า ได้รับทราบจากสื่อแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า ชอบฉายาที่ได้รับหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะให้รู้สึกอย่างไร เพราะสื่อเป็นคนตั้ง ทำไมต้องชอบหรือไม่ชอบ ยืนยันทำงานทุกวันเพื่อประชาชนคนไทย ให้กินดีอยู่ดี และที่ผ่านมา  นายกรัฐมนตรีก็ทำงานหนักมาก ยังต้องตอบคำถามผู้สื่อข่าวทุกวัน พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึง การตรวจสอบบ่อนในพื้นที่ จ.ระยอง หลังพบนักพนันติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังดำเนินการอยู่ ให้เวลา 3 วัน ไม่ต้องห่วง เพราะดำเนินการตามกฎหมาย และได้กำชับให้ทุกพื้นที่ต้องดูแลป้องกันตามกฎหมาย     .- สำนักข่าวไทย    

เตรียมเมนูอาหารทะเลเสิร์ฟประชุม ครม.

27 ธ.ค. – ประชุม ครม.อังคารนี้ เตรียมสุดยอดเมนู กุ้ง หมึก ปลา เสิร์ฟคณะรัฐมนตรี สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นประชาชนหันมาบริโภคอาหารทะเลมากขึ้น นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เตรียมเมนูอาหารทะเล พร้อมเสิร์ฟคณะรัฐมนตรีวันอังคารที่ 29 ธันวาคมนี้ ประกอบด้วย ต้มยำกุ้ง กุ้งเผา กุ้งผัดกะเพรา นอกจากเมนูกุ้งแล้วยังมีเมนูอาหารทะเลอย่างอื่นอีก เช่น ปลาหมึกผัดไข่เค็ม ปลาหมึกผัดกะปิ ปลากะพงทอดน้ำปลา และข้าวผัดปู โดยเมนูอาหารข้างต้นจะปรุงสุก จัดแยกเป็นเช็ตให้ ครม. และผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละท่านแยกกันทาน สำหรับวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารสั่งตรงมาจากทะเล และนำมาปรุงสุก ณ ทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังขอให้ประชาชนมั่นใจและหันมาบริโภคอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้งมากขึ้น พร้อมกล่าวยืนยันว่าโรคโควิด 19 ไม่ได้ติดต่อทางอาหาร แต่ติดจากคนสู่คน ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าว ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นล้างมือ และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เชื่อว่าด้วยความรัก ความสามัคคี และความร่วมมือของคนไทยทุกคนจะทำให้ก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน.- สำนักข่าวไทย

1 4 5 6 7 8 440