ราคาไข่ไก่ปรับขึ้นอีก 20 สตางค์ แตะ 3.80 บาท

กรุงเทพฯ 28 เม.ย. – เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ โดยเป็นการขยับราคาห่างจากรอบที่แล้วไม่ถึง 2 สัปดาห์ สาเหตุเพราะช่วงนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้นอีก ปริมาณไข่ไก่ลดและขนาดฟองเล็กลง ประกอบกับสงครามในต่างประเทศ ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ วอนผู้บริโภคเข้าใจและขออย่าตกใจ ปริมาณไข่ไก่แม้น้อยลง 5-10% แต่ยังเพียงพอบริโภค


เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ออกประกาศแจ้งสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปรับราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (29 เมษายน 2567) เป็นต้นไป ส่งให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับจากฟองละ 3.60 บาท เป็น 3.80 บาท หรือแผงละ 114.00 บาท

การปรับราคาขึ้นครั้งนี้ เป็นการปรับห่างจากครั้งก่อนหน้าเพียง 12 วัน โดยครั้งที่แล้ว ปรับขึ้นจากฟองละ 3.40 บาท เป็น 3.60 บาท หรือแผงละ 108.00 บาท เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567


 สำหรับราคาไข่ไก่ตามขนาดของวันนี้ (28 เมษายน 2567) มีดังนี้

  • ไข่ไก่ เบอร์ 0 ราคา 4.10 บาท/ฟอง ราคา 123.00 บาท/แผง
  • ไข่ไก่ เบอร์ 1 ราคา 3.90 บาท/ฟอง ราคา 117.00 บาท/แผง
  • ไข่ไก่ เบอร์ 2 ราคา 3.70 บาท/ฟอง ราคา 111.00 บาท/แผง
  • ไข่ไก่ เบอร์ 3 ราคา 3.60 บาท/ฟอง ราคา 108.00 บาท/แผง
  • ไข่ไก่ เบอร์ 4 ราคา 3.50 บาท/ฟอง ราคา 105.00 บาท/แผง
  • ไข่ไก่ เบอร์ 5 ราคา 3.40 บาท/ฟอง ราคา 102.00 บาท/แผง
  • ไข่ไก่ เบอร์ 6 ราคา 3.30 บาท/ฟอง ราคา 99.00 บาท/แผง

โดยราคาใหม่ที่ปรับขึ้นอีกฟองละ 20 สตางค์ จะเริ่มพรุ่งนี้

นายชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ระยะนี้อากาศร้อนยิ่งขึ้น ประกอบกับน้ำน้อยลง สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียด จึงออกไข่น้อยลงและขนาดฟองเล็กลง เกษตรกรรายย่อยต้องลงทุนเพิ่ม ด้วยการซื้อน้ำมาให้แม่ไก่กิน และใช้น้ำฉีดพ่นละอองบนหลังคาโรงเรือนแบบเปิด เพื่อลดความร้อน ส่วนโรงเรือนปิดแบบอีแวป ต้องเปิดระบบทำความเย็นที่ต้องใช้น้ำหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น


นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ยังประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ไทยต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะสงครามในต่างประเทศ แม้ภาครัฐแจ้งว่าไม่กระทบไทย แต่ขณะนี้ได้รับแจ้งถึงราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มแล้ว

รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ คาดการณ์ว่า ปริมาณไข่ไก่ในตลาดลดลงประมาณ 5-10% แต่ฟาร์มขนาดเล็กหรือฟาร์มที่มีระบบจัดการไม่ดีอาจจะถึง 20% ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระจะยิ่งกระทบรุนแรง ขณะนี้ผู้เลี้ยงรายย่อยบางรายเริ่มปลดแม่ไก่ออก เพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว

สำหรับการปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มครั้งนี้ จะทำให้ราคากลับไปเท่าราคาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้ปรับขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร จาก 3.50 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 3.80 บาท โดยปรับขึ้น 30 สตางค์ หรือแผงละ 9 บาท

จากนั้นวันที่ 15 มกราคม 2567 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ประกาศปรับลดราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร จากฟองละ 3.80 บาท มาอยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท โดยปรับลงฟองละ 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2567 เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ แจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร อยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท โดยปรับลดลงอีกครั้ง จากราคาก่อนหน้านี้อยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท โดยปรับลดลง 20 สตางค์ หรือแผงละ 6 บาท แล้วคงราคาต่อเนื่อง

จนมีการปรับขึ้นเป็นฟองละ 3.60 บาท ในวันที่ 17 เมษายน หลังจากที่สภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลทั้งต่อปริมาณและขนาดของไข่ไก่ แล้วจะปรับขึ้นอีกครั้งวันพรุ่งนี้ (29 เม.ย.)

รองเลขานุการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น สวนทางกับปริมาณผลผลิต แต่ขอให้ประชาชนไม่ต้องตกใจ โดยปริมาณไข่ไก่ยังเพียงพอบริโภคและไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน ส่วนราคานั้น ผู้เลี้ยงจะประคับประคองไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นอีก แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของต้นทุน หากสภาพอากาศยังร้อนต่อเนื่อง ฝนมาช้า รวมถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่อาจปรับเพิ่มจากภาวะสงครามในต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดไข่ ได้ประกาศปรับขึ้นราคาไข่เป็ดหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์เช่นกัน โดยปรับเมื่อวันที่ 22 เมษายน ทำให้ราคาปรับจาก 4.40 บาทต่อฟอง มาอยู่ที่ 4.60 บาทต่อฟอง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กรมการค้าภายใน เชิญสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่มาร่วมประชุม โดยผู้แทนของทั้งสองสมาคมขอให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงสาเหตุปรับราคาขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง เป็นปัญหาที่ถาโถมต่อเกษตรกร

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้เชิญผู้เลี้ยงสุกรและไก่ไข่มาหารือถึงแนวทางช่วยเหลือให้เกษตรกรอยู่รอด กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาเนื้อหมูและไข่ไก่สักระยะ ทางผู้เลี้ยงขอให้ช่วยสนับสนุนด้านต้นทุน ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

ทั้งนี้ สภาพอากาศร้อนทำให้ผลผลิตทั้งหมูและไข่ลดลง โดยราคาหมูหน้าฟาร์มที่ปรับขึ้น เป็นราคาที่ยังไม่คุ้มทุนของผู้เลี้ยง เนื่องจากยังมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินอยู่ถึง 8,000-10,000 ตัวต่อวัน กรมการค้าภายในได้เชื่อมโยงผลผลิตจากผู้เลี้ยง เพื่อช่วยเกษตรกรระบายสินค้า ผ่านงานธงฟ้าที่จัดทั่วประเทศ และผ่านรถโมบายธงฟ้า ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ และจะทำจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนไข่ไก่ ผลผลิตภาพรวมไม่ได้ลดลง แต่ไข่ใบเล็กลง สัดส่วนเบอร์ 3 ถึงเบอร์ 5 มีถึง 50% จากปกติจะอยู่ที่ 30% ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เลี้ยงในการช่วยระบายไข่ไก่เบอร์เล็ก รวมถึงจะเป็นแนวทางให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อไข่ไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด

สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวที่ขยับขึ้น คือ ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 11,800 บาทต่อตัน จาก 11,550 บาทต่อตันในสัปดาห์ก่อนหน้า ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย 13,400 บาทต่อตัน จาก 13,300 บาทในสัปดาห์ก่อนหน้า และข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ยตันละ 14,800 บาท เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 14,740 บาท ส่วนชนิดอื่นยังทรงตัวระดับสูง ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยตันละ 14,850 บาท สูงสุดที่ตันละ 15,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เฉลี่ยตันละ 14,600 บาท สูงสุดตันละ 15,200 บาท

ขณะที่มันสำปะหลัง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.20 บาท สูงสุด 3.40 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 9.43 บาท สูงสุด 9.60 บาท โดยราคาหน้าโรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ 10.10-10.20 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนผลปาล์มน้ำมัน ลดลงเล็กน้อย เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.10 บาท สูงสุด 5.40 บาท สอดคล้องกับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด เฉลี่ย 44.63 บาทต่อขวดลิตร ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ขวดละ 45.13 บาท

สำหรับราคาผักหลายชนิด แม้จะปรับตัวสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตเสียหายได้ง่าย แต่จากการติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมใช้กลไกการเชื่อมโยงจากแหล่งผลิตไปเติมยังจุดสินค้าให้มีเพิ่มมากขึ้นและมีราคาสูง รวมทั้งจำหน่ายผ่านรถโมบายธงฟ้าทุกวัน ในชุมชนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้แนวโน้มราคาเริ่มย่อลงแล้วเล็กน้อย โดยในตลาดกลางสำคัญ อย่าง “สี่มุมเมือง” ราคาผักชี ลดลงเหลือกิโลกรัมละ 160 บาท จาก 180 บาท คะน้า จากกิโลกรัมละ 36 บาท ลดลงเหลือ 30 บาท กะหล่ำปลี จากกิโลกรัมละ 20 บาท เหลือ 16 บาท ผักกาดหอม จากกิโลกรัมละ 60 บาท เหลือ 55 บาท ผักบุ้งจีน ลดลง 1 บาท จากกิโลกรัมละ 16 บาท เหลือ 15 บาท แตงกวา จากกิโลกรัมละ 28 บาท เหลือ 22 บาท ถั่วฝักยาว จากกิโลกรัมละ 70 บาท เหลือ 64 บาท มะนาว เริ่มลดลงแล้ว จากลูกละ 5.30 บาท เหลือ 4.10 บาท

ทั้งนี้ หากในช่วงเดือนพฤษภาคม ฝนเริ่มตก จะทำให้สถานการณ์ราคาผักคลี่คลาย.-512-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอ เข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอ เข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ