กรุงเทพฯ 6 พ.ย.- รมว. เกษตรฯ เผยเตรียมเสนอที่ประชุมครม. พรุ่งนี้ อนุมัติโครงการตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว 2 โครงการเพื่อชะลอผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาด 1-5 เดือน ส่วนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวที่ชาวนาเคยได้ไร่ละ 1,000 บาท จะได้เป็นค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแทน ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะเสนอครม. ให้พิจารณาเห็นชอบโครงการตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 66/67 จำนวน 2 โครงการคือ
1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท โดยช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1–5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 66- 29 ก.พ. 67 เกษตรกรสามารถนำข้าวไปขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท ข้าวหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเหนียว ตันละ 10,000 บาท หากข้าวราคาขึ้น เกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมาเพื่อนำมาจำหน่ายได้
2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481 ล้านบาท โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน ระยะเวลาการจ่ายสินเชื่อ 1 ต.ค. 66 – 30 ก.ย. 67
สำหรับโครงการตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก 66/67 สหกรณ์จะรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าราคาตลาดประมาณ 200-500 บาทต่อตัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอไม่ให้ผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดในคราวเดียวกัน
ส่วนเงินช่วยเหลือชาวนาเป็นค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาทนั้น ในปีนี้ไม่มีให้ แต่รัฐจะสนับสนุนเป็นค่าบริหารและพัฒนาคุณภาพข้าว 1,000 บาท/ไร่ จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในครั้งต่อไป
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานสถานการณ์ข้าวไทย (ณ เดือน ต.ค. 66) คาดการณ์ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/67
– ภาพรวม ผลผลิต 32.35 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 2.08 ล้านตันข้าวเปลือก (-6%)
– นาปี ผลผลิต 25.57 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 1.14 ล้านตันข้าวเปลือก (-4%)
– นาปรัง ผลผลิต 6.78 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 0.94 ล้านตันข้าวเปลือก (-12%)
ทั้งนี้ผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง
ด้านการส่งออกข้าวในปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 14.87 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 6.26 ล้านตัน ไทย 6.08 ล้านตัน ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตัน โดยอินเดียส่งออกข้าวลดลง (-3%) เนื่องจากมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวภายในประเทศ เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+33%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไทยส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+12%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว และปากีสถาน ส่งออกข้าวลดลง (-37%) เนื่องจากมีปริมาณข้าวจำกัด จากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีก่อน
ในปี 2566 ไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ประเทศที่นำเข้าข้าวขาวที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก มาเลเซีย ญี่ปุ่น โมซัมบิก รองลงมาได้แก่ข้าวนึ่ง 19% ประเทศที่นำเข้าข้าวนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ เยเมน เบนิน แคเมอรูน ข้าวหอมมะลิไทย 18% ประเทศที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล ฮ่องกง แคนาดา จีน ข้าวหอมไทย 6% ประเทศที่นำเข้าข้าวหอมไทยที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ข้าวเหนียว 3% ประเทศที่นำเข้าข้าวเหนียวที่สำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ลาว ญี่ปุ่น และข้าวกล้อง 1% ประเทศที่นำเข้าข้าวกล้องที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน โปแลนด์ สิงคโปร์
เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 24% ดังนี้
– ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,800-16,000 บาท เฉลี่ยตันละ 15,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตันละ 13,599 บาท (+13%)
– ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 12,500-13,000 บาท เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตันละ 10,687 บาท (+19%)
– ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,300-11,800 บาท เฉลี่ยตันละ 11,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตันละ 8,984 บาท (+27%)
– ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,500-14,800 บาท เฉลี่ยตันละ 13,800 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตันละ 9,968 บาท (+37%)
จากการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทยพบว่า ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยบวกดังนี้
1. การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
2. การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมาย 8 ล้านตันเนื่องจาก
- อินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น
- ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก
- ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
อย่างไรก็ตามมีปัจจัยลบที่จะต้องเฝ้าระวังได้แก่
- ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด
- สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจจะมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ.-สำนักข่าวไทย