กรุงเทพฯ 14 ต.ค.- กรมอุตุนิยมวิทยาคาด จะยังมีฝนต่อเนื่องอีกตลอดสัปดาห์ เหตุหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้เข้าปกคลุม โดยฤดูหนาวจะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนตุลาคมซึ่งช้ากว่าค่าเฉลี่ย 2 สัปดาห์และอุณหภูมิต่ำสุดจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 15 – 23 ต.ค. 66 ประเทศไทยจะยังมีฝนตกต่อเนื่อง สาเหตุจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ทางตะวันออกของประเทศเวียดนาม มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมตอนกลางของประเทศเวียดนาม สปป. ลาว กัมพูชา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของไทย ประกอบแนวร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่และต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักบางพื้นที่
ขณะนี้ลมหนาวแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยทิศทางลมเริ่มเปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นตลอดสัปดาห์จะมีทั้งฝนและอากาศเย็น จึงต้องระมัดระวังสุขภาพ
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวปีนี้ซึ่งจะหนาวช้าและหนาวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยฤดูหนาวจะเริ่มประมาณปลายเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 2 สัปดาห์และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567
สำหรับอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนประมาณ 21 – 22 องศาเซลเซียส โดยค่าปกติอยู่ที่ 19.9 ดังนั้นจึงสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส
เมื่อเทียบกับฤดูหนาวปี 2565 ปีนี้อากาศจะหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 20.8 องศาเซลเซียส
สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 9 – 10 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนืvและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดบริเวณกรุงเทพมหานคร 17 – 18 องศาเซลเซียสและปริมณฑล 15- 16 องศาเซลเซียส
ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2566 ถึงปลายเดือนมกราคม 2567
ทั้งนี้ยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ส่วนภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากรวมทั้งน้ำลันตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ในบางช่วงมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร
กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงปลายเดือนตุลาคม บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมา และในบางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่
จากนั้นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยตอนบนซึ่งจะทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่.-สำนักข่าวไทย