กรุงเทพฯ 2 ก.พ.-เมืองไทยกำลังจะมี “บ้านพิงพัก” ศูนย์ดูแลผู้ป่วยและวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมแบบครบวงจรเป็นแห่งแรกในเดือนสิงหาคมปีนี้ หลังพบโรคนี้คร่าชีวิตหญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 ผู้ป่วยยากไร้จำนวนมากไร้ญาติดูแล ต้องทนทุกข์ทรมานจนวาระสุดท้ายเพียงลำพัง
มะเร็งเต้านม สาเหตุอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตหญิงไทย ปีละกว่า 3,400 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 10 ราย สร้างความกังวลใจให้สาวๆ ยุคนี้ ใครโชคดีตรวจเจอเร็ว รักษาถูกวิธีก็รอด แต่หากใครตรวจพบช้า โอกาสรอดก็แทบไม่มี และที่หดหู่ยิ่งกว่า คือ ผู้ป่วยยากไร้ ไม่มีญาติ เข้าไม่ถึงการรักษา ทุกข์ทรมานจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ปัจจุบันเมืองไทยมีศูนย์รักษาโรคมะเร็ง แต่ยังไม่มีศูนย์ดูแลผู้ป่วยเหมือนในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ยากไร้ ต้องนอนติดเตียง จนโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้
พื้นที่ 121ไร่ ย่านมีนบุรีที่กำลังก่อสร้างอยู่นี้ คือ สถานที่ตั้งของบ้านพิงพัก ซึ่งจะเป็นศูนย์บำบัดและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมอย่างครบวงจรเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
บ้านพิงพัก เกิดขึ้นจากแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส ทั้งกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และผู้ป่วยต่างจังหวัดที่มารักษา แต่ขาดแคลนที่พัก ให้ได้รับการดูแลท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี อบอุ่นเสมือนญาติมิตร ตอนนี้ก่อสร้างไปแล้วกว่า 40% ที่นี่มีทั้งบ้านพักผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่กำลังรักษา ศูนย์ฟื้นฟูสภาพและกิจกรรม ศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรม ศูนย์วิจัยและวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม
ภูมิทัศน์โดยรวม เป็นสไตล์บ้านในสวน เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ แวดล้อมด้วยแมกไม้ร่มรื่น เน้นดอกไม้โทนสีชมพู ที่โอบล้อมด้วยทุ่งนาเขียวขจีของชาวบ้าน ให้ความรู้สึกสงบ อบอุ่น สบายกายสบายใจ เป็นการดูแลที่ไม่เน้นปริมาณผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขาคุณภาพชีวิตที่ดี และเจ็บปวดทรมานน้อยที่สุด
บ้านพิงพัก เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแบบวงจรแห่งแรกของไทย ที่ไม่แสดงหาผลกำไร ใช้งบก่อสร้าง 500 ล้านบาท โดยได้รับบริจาคที่ดินก่อสร้าง 121ไร่ มาจากผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ส่วนเงินทุนได้รับน้ำใจมาจากหลายฝ่าย หากมีเงินทุนเพียงพอ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดรับผู้ป่วยได้ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ อันเป็นปีเดียวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ.-สำนักข่าวไทย