ขอนแก่น 18 ก.พ.- สภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติ และองค์กรภาคี ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ข้าว โดยระบุว่า ให้ สนช.ยกเลิกทันที และจะคัดค้านจนถึงที่สุด หลังพบว่าจำกัดเสรีภาพการผลิตข้าวของชาวนา เปิดช่องให้นายทุนผูกขาดการผลิตเมล็ดพันธุ์ ขณะที่ตัวแทนชาวนาที่ร่วมผลักดันกฎหมายฉบับนี้มากว่า 10 ปี เห็นต่าง โดยมองว่าภาพรวมเป็นประโยชน์ต่อชาวนา
การจำกัดเสรีภาพทางการผลิตของชาวนา ด้วยการจำกัดพื้นที่เป็นเขตศักยภาพ เพื่อสร้างโซนนิ่งของการผลิตข้าว เป็นหนึ่งในข้อห่วงใยที่สภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับชาติ และองค์กรภาคี ออกแถลงการณ์คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพราะมองว่าจะทำลายความหลากหลายต่อระบบนิเวศการผลิต หากการกำหนดเขตศักยภาพการผลิต ขาดความเข้าใจ และความเป็นธรรม โดยใช้มาตรา 22 ว่าด้วยเมล็ดพันธุ์ เข้าควบคุมจนชาวนาสูญเสียอำนาจการผลิตข้าว และหันไปสู่การปลูกพืชอุตสาหกรรมอื่นทดแทน
พวกเขาเห็นว่า ชาวนารายย่อยคือกลุ่มคนที่ผลิตข้าวได้คุณภาพที่สุด แต่เกรงว่าการจะนำเทคโนโลยีผลิตเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก จะเป็นการเปิดช่องให้นายทุนไม่กี่ราย แม้ในมาตรา 26 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตพันธุ์ข้าว ซึ่งไม่ได้รับอนุญาต และรับรองพันธุ์ จะไม่ใช้บังคับแก่ชาวนา ซึ่งซื้อขายแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ในที่นาตัวเอง แต่ในความเป็นจริง มีชาวนาจำนวนมากที่ใช้นาเช่า นาที่ยังไม่ได้รับการถ่ายโอนมรดก และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ขณะที่ประธานศูนย์พันธุ์ข้าวชุมชน ต.สาวะถี อ.เมืองขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนผลักดันร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้มากว่า 10 ปี มองว่าอาจมีความเข้าใจผิดสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งตนเห็นว่าชาวนาได้ประโยชน์มากกว่าเสีย พันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองจากกรมการข้าวแล้ว ชาวนาสามารถผลิตได้ปกติ ยกเว้นพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรอง พ่อค้าที่ทำอยู่ทั่วไปขณะนี้ จะได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรชุมชนฯ ยังมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้รวมศูนย์อำนาจ ขาดการถ่วงดุล จึงเรียกร้อง สนช.ให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ข้าว ทันที ไม่เช่นนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลกว่า 7,000 แห่ง ทั่วประเทศ จะร่วมกันคัดค้านจนถึงที่สุด.-สำนักข่าวไทย