นนทบุรี 11 ต.ค.-รมว.พาณิชย์ หวั่นผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจะลากนาน 3 ปี ทำสินค้าเกษตรสำคัญของไทย เกิดปัญหาส่งออกได้ ขอ 2 กรมฯ ติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะข้าว เกรงจะขาดแคลน พร้อมทั้งให้ลงไปติดตามสินค้าจะทำอย่างไรให้คนไทยรู้สึกว่าสินค้าถูกลง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ได้ให้แนวนโยบายกรมการค้าภายในและกรมการค้าต่างประเทศไปทำงานร่วมกัน หลังจากดูแนวโน้นจากปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่ลากยาวนานไปถึง 3 ปีหลังจากนี้ ซึ่งจะกระทบต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพคเลี้ยงสัตว์และปาล์มที่อาจจะขาดแคลนทางด้านปริมาณได้ แม้ว่าปัญหาภัยแล้งจะเกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก หลายประเทศสนใจสั่งซื้อสินค้าเหล่านี้จากไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยมีการเพาะปลูกสินค้าเหล่านี้เพียงพอ แต่หากไทยเร่งส่งออกไปมากเกินไปก็อาจจะเกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าเพื่อบริโภคภายในประเทศเองได้ ดังนั้น จึงต้องบริหารและจัดการให้มีความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ไทยแม้จะเป็นประเทศที่ปลูกพืชผลการเกษตรได้แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในเสียเอง
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ใช้นโยบายห้ามการส่งออกสินค้าเกษตร แม้ช่วงนี้ราคาตลาดพืชเศรษฐกิจในตลาดโลกดีต่อเนื่อง แต่สินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะขึ้นและลงเร็ว ดังนั้น จะหวังแต่ราคาเพียงอย่างเดียวไม่ให้ คงต้องดูให้สินค้าเกษตรภายในประเทศมีเพียงพอไม่ขาดแคลนด้วย ซึ่งในบ่ายวันนี้ ได้พบกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยก็จะขอให้ภาคเอกชนด้วยกันดูในเรื่องของปริมาณสินค้าข้าวด้วยอย่าหวังแต่เรื่องของราคาข้าวสูงเพียงอย่างเดียว รวมถึงจะนำเรื่องข้อกังวลนี้ไปหารือทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสมาคมต่างๆด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปดูในเรื่องของราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยรวมด้วยว่าจะต้องให้มีการลดลงของสินค้าอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้รู้สึกว่าสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงมาแล้ว แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากแต่กระทรวงพาณิชย์จะทำทุกทางให้ประชาชนเข้าใจ
นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ชัดเจนขึ้น เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รุนแรงในระยะเวลาที่จำกัด แต่โดยหลักการและวิธีการที่นำไปใช้นั้น ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและให้เห็นผลมากที่สุด โดยขอบคุณหลายฝ่ายที่แสดงความเป็นห่วงถึงการใช้เงินจำนวนมาก รัฐบาลรับทราบและนำข้อกังวลกลับไปพิจารณา แต่มองว่าบางเรื่องมีความกังวลมากจนเกินไป โดยรัฐบาลพยายามคิดอย่างรอบคอบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาโครงการ สถานที่รวมถึง พื้นที่ในการใช้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์อาจจะนำร้านในเครือข่ายธงฟ้าเข้าร่วมโครงการด้วยเพื่อเป็น 1 ช่องทางในการกระจายสินค้า รวมถึงเครือข่ายของสหกรณ์หากมีความจำเป็น และสำหรับความเป็นห่วงในเรื่องของการนำร้านสะดวกซื้อเข้าร่วมโครงการจนอาจทำให้ร้านธงฟ้าหรือร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้นั้น มองว่า ต้องพิจารณาไปในแต่ละพื้นที่ โดยเป้าหมายหลัก คือการกระจายสินค้าให้ได้มากที่สุด และเหมาะสมที่สุดโดยไม่จำกัดอยู่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า การเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงบ่ายวันนี้เพื่อมาคาราวะหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีพาณิชย์อย่างเป็นทางการ โดยทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะชี้แจงถึงภาพรวมส่งออกข้าวไทย ซึ่งในปีนี้ที่เหลือเวลาอีก 3 เดือน หากไทยส่งออกได้เดือนละ 7-8 แสนตัน คาดว่า ยอดส่งออกข้าวทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 8-8.2 ล้านตัน และที่สำคัญที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า ปีนี้จากปัญหาภัยแล้งจะทำให้ปริมาณข้าวในประเทศลดลงด้วยนั้น ยังเห็นว่า ภัยแล้งในปีนี้น่าจะผ่านไปแล้ว เพราะในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาฝนตกต่อเนื่อง จึงทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกได้
นอกจากนี้ ยังมองว่าในปีหน้าปัญหาภัยแล้งก็ยังไม่น่าวิตกมาก เพราะด้วยประเทศไทยเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวต่อปีอยู่ที่ 33-34 ล้านตันข้าวเปลือกแปลงเป็นข้าวสารต่อปี 20-22 ล้านตันข้าวสารถือว่า เพียงพอต่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศแน่นอน แต่หากปัญหาภัยแล้งเกิดแล้งหนักไม่มีน้ำใช้เลยก็คงจะต้องมาคุยหาทางออกกันอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกข้าวประเมินว่าในปี 66 ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 8-8.2 ล้านตัน คงไม่เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 โดยอันดับ 1 ได้แก่ อินเดีย แม้ปีนี้ส่งออกลดลงจาก 22 ล้านตันเหลือ 18 ล้านตัน อันดับ 2 เวียดนาม ส่งออกอยู่ที่ 8.5 ล้านตัน ดังนั้น หากไทยเร่งส่งออกข้าว 3 เดือนที่เหลือ 8 แสนตันขึ้นไป โอกาสที่ไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของปีนี้ก็เป็นไปได้ และในปี 67 ยอดส่งออกข้าวน่าจะอยู่ที่ 7-7.5 ล้านตัน โดยเห็นว่า ปีหน้าการแข่งขันข้าวในตลาดโลกสูง เชื่อว่า อินเดียจะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวจะทำให้การแข่งขันส่งออกข้าวกลับมาคึกคักเพิ่มขึ้น ขณะนี้ ราคาข้าวไทยต่ำกว่าเวียดนาม โดยข้าวขาวของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 580 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามเฉลี่ยอยู่ที่ 610 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกข้าวกังวล คือ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ แต่หากค่าเงินบาทแข็งค่า 1 บาทเท่ากับต้องไปเพิ่มราคาข้าวขาวถึง 17 เหรียญต่อตันยิ่งทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันข้าวในตลาดโลกลำบากอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกยังคงจับตาสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด แต่เวลานี้เหตุการณ์ยังไม่ลุกลามไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็จะยังไม่ส่งผลกระทบกับการส่งออกข้าวไทย โดยตะวันออกกลางถือเป็นตลาดการส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะอิรักที่ถือเป็นตลาดสำคัญขนาดใหญ่ในตลาดข้าวขาว แต่หากการสู้รบไม่ขยายวง ไปจนเกิดการปิดท่าเรือหรือปิดการจนส่งทางอากาศก็จะไม่กระทบกับการค้าของไทย โดยอิสราเอลมีการนำเข้าข้าวไทยปีละประมาณ 50,000 ตัน จึงกระทบกับการส่งออกน้อยมาก.-สำนักข่าวไทย