เมติเตรียมนำนักลงทุนญี่ปุ่นดูลู่ทางทำธุรกิจในไทยอีกครั้ง

“สุริยะ” เผยรัฐมนตรีเมติญี่ปุ่น รับปากจะนำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นมาศึกษาความพร้อมและโอกาสลงทุนเร็ว ๆ นี้

อุตตมสร้างความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่นดึงลงทุนในอีอีซี

กรุงเทพฯ 14 มิ.ย.- กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือเมติญี่ปุ่นสานต่อศูนย์ ITC พร้อมสร้างความมั่นใจนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวสรุปผลการนำคณะเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2561 ว่า  ได้ปาฐกถาในการประชุมประจำปี International Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 24 วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่กรุงโตเกียว โดยย้ำถึงนโยบายและความคืบหน้าของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่นในการเข้ามาลงทุนในอีอีซี มากยิ่งขึ้น และยังได้หารือกับนาย ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม หรือ เมติ ของประเทศญี่ปุ่น โดยทางญี่ปุ่น จะสนับสนุนขยายความร่วมมือในการตั้งศูนย์ ITC ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)เพิ่มอีก 11 ศูนย์ภาค โดยทีมงานทั้งไทยและญี่ปุ่นจะเร่งประสานงานกันโดยเร็วต่อไป พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำการสนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาการลงทุนในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้  กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเมติญี่ปุ่น ยังร่วมลงนาม MOC เรื่อง The Smart Industrial Safety System in Thailand เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ AI ระบบ IOT และ Big data มาใช้ เพื่อการพัฒนาระบบ Safety& Maintenance ให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ต่อยอดไปสู่ Industry 4.0 ด้วย นายอุตตม กล่าวว่า ในการเดินทางไปครั้งนี้ ยังได้หารือกับนายทาเคชิ อูชิยามาดะ ประธานสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่นหรือ JTECS – Japan-Thailand Economic Cooperation Society ซึ่งจากการหารือเห็นพ้องต้องกันว่า JTEC จะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotic) และระบบอัตโนมัติ (Automation) โดยจะช่วยให้ SME ไทยสามารถเข้าถึงและเข้าใจการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น เช่น ด้าน S.I. (System Integrator) โดยตั้งเป้าการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ไว้จำนวน 1,400 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีข้อตกลงร่วมกันที่จะตั้งกลุ่ม Consortium โดยกระทรวง METI สมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTECS และสำนักงาน JETRO กรุงเทพฯ ฝ่ายญี่ปุ่น ร่วมกับ ฝ่ายไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น (สสท) จะเร่งจัดทำแผนการดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันนายอุตตม ยังเข้าหารือกับ นายฮิโรชิ ทาคาดะ ประธานองค์การส่งเสริมและพัฒนา SME ของญี่ปุ่น หรือ SMRJ – Organization for SMEs and Regional Innovation เรื่องความร่วมมือของ SME      ทั้ง 2 ประเทศ  ให้เร่งดำเนินงานโครงการ T-GoodTech ในระยะที่ 2 พร้อมเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลเว็บไซต์   J GoodTech ให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ SME ของทั้ง 2 ประเทศ สามารถขยายความร่วมมือในลักษณะพื้นที่ สู่ พื้นที่ หรือในระดับจังหวัดสู่จังหวัด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความเชื่อมโยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังชักจูงนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 ราย โดยหลังจากการเข้าพบนายยาซูฮิโร่ ฮาระ CEO ของบริษัท Ryoki Tool ผู้ผลิต Aerospace tooling ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีความสนใจเข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภาคพื้นเอเชีย (MRO) ในพื้นที่ EEC โดยจะเข้ามาสำรวจลู่ทางการลงทุนในเร็วนี้ ขณะที่บริษัท Nachi Fujikochi Corporation ผู้จำหน่ายแขนกลหุ่นยนต์ อันดับ 2 ในไทย ก็มีความสนใจเข้ามาลงทุนในสายการผลิตแขนกลหุ่นยนต์ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน การเดินทางมาประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดและขยายผลความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดและร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ Industry 4.0 และสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวง METI หน่วยงาน SMRJ รวมถึงภาคเอกชนอย่างเช่น JTEC และ Denso ที่ยืนยันจะร่วมมือกับหน่วยงานไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมนำพาให้ประเทศก้าวสู่ยุค 4.0 ได้โดยเร็วต่อไป นอกจากนี้ นายอุตตม ยังเยือนจังหวัดโทยาม่า พร้อมจัดสัมมนาการลงทุนในไทย โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นสนใจร่วมงานกว่า  100 คน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทย ปัจจุบันมีนักลงทุนจากจังหวัดโทยาม่าเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 60 บริษัท ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบเรื่องอีอีซีและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจังหวัดโทยาม่า มีอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่  เครื่องจักร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งบริษัท นาชิ บริษัทผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ตั้งอยู่ในจังหวัดนี้เช่นกัน นอกจากนี้ จังหวัดโทยาม่ายังมีอุตสาหกรรมการแพทย์ ยารักษาโรค และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น  ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ญี่ปุ่น ได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาพิจารณาลงทุนในประเทศไทย  นายอุตตม ยังหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดโทยาม่า โดยเสนอให้มีการประสานด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดโทยาม่ากับการท่องเที่ยวของไทย ที่ขณะนี้ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และกระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village หรือ CIV)  อยู่แล้ว จึงจะสนับสนุนให้จังหวัดโทยาม่า ได้เชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัดในประเทศไทยร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย

...