นักศึกษาบังกลาเทศอำนวยการจราจรแทนตำรวจ

ธากา 7 ส.ค.- นักศึกษาบังกลาเทศกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่อำนวยการจราจรกลางสี่แยกในกรุงธากาเมื่อวานนี้ เนื่องจากไม่มีตำรวจราจรประจำการ ท่ามกลางภาวะสุญญากาศทางการเมืองหลังจากมีการยุบสภา ทั้งนี้หลังจากการประท้วงรุนแรงในบังกลาเทศยุติลงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม เมื่อกองทัพประกาศว่า นายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนาลาออก กลุ่มนักศึกษาที่เป็นแกนนำการประท้วงได้เข้าทำหน้าที่ควบคุมการจราจรกลางสี่แยกใหญ่ในกรุงธากา เนื่องจากภาวะสุญญากาศทางการเมืองทำให้ไม่มีตำรวจจราจรทำหน้าที่ นักศึกษาคนหนี่งกล่าวว่า ทุกคนต้องการมีส่วนร่วมในงานสาธารณะ ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดินของบังกลาเทศประกาศยุบสภาเมื่อวานนี้ ตามที่กลุ่มนักศึกษาขู่ว่าจะเดินหน้าประท้วงต่อหากไม่ยุบสภา จากนั้นได้ประชุมกับแกนนำนักศึกษาและผู้บัญชาการทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ตามด้วยการประกาศแต่งตั้งนายมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลวัย 84 ปี เป็นหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลชั่วคราว นอกจากนี้ยังยกเลิกคำสั่งกักบริเวณในบ้านพักให้แก่นางคาเลดา เซีย ผู้นำพรรคชาตินิยมบังกลาเทศที่เป็นฝ่ายค้าน เธอเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นคู่ปรับกับนางฮาซีนามาหลายทศวรรษ กลุ่มนักศึกษาได้เป็นผู้นำการประท้วงต่อต้านระบบโควต้าตำแหน่งงานภาครัฐตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม แล้วลุกลามเป็นการต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรง มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คนจากการปะทะกับตำรวจและกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตอวามีที่เป็นรัฐบาล.-812(814).-สำนักข่าวไทย

อินเดียประชุมทุกพรรคการเมืองเรื่องวิกฤติบังกลาเทศ

นิวเดลี 6 ส.ค.- อินเดียเปิดการประชุมทุกพรรคการเมืองที่รัฐสภาเป็นการภายในวันนี้ เพื่อหารือเรื่องวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ รอยเตอร์เผยแพร่ภาพข่าวจากสำนักข่าวเอเอ็นไอ (ANI) ของอินเดีย เห็นนายสุพรหมณยัม ชัยศังกระ รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียกล่าวในการประชุมทุกพรรคการเมืองที่มีนายอมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทย นายราชนาถ ซิงห์ รัฐมนตรีกลาโหม นายราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้าน และผู้นำพรรคการเมืองอื่น ๆ เข้าร่วม บังกลาเทศกำลังรอการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในวันนี้ หลังจากกองทัพแถลงทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ว่า นางเชค ฮาซีนาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะมีการตั้งรัฐบาลชั่วคราว บังกลาเทศเกิดการประท้วงมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีคนเสียชีวิตรวมกันเกือบ 300 คน สถานการณ์รุนแรงที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คนในวันเดียว ทำให้กลุ่มนักศึกษาชักชวนคนทั่วประเทศเคลื่อนขบวนเข้าสู่กรุงธากา เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียเผยว่า นางฮาซีนาวัย 76 ปี เดินทางออกจากกรุงธากาของบังกลาเทศมาถึงท่าอากาศยานทหารฮินดอนใกล้กรุงนิวเดลีของอินเดียในวันเดียวกัน แหล่งข่าวทางการทูตเผยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงบังกลาเทศมีแผนจะเดินทางไปลี้ภัยในอังกฤษ ขณะที่เว็บไซต์บิซิเนสสแตนดาร์ดของอินเดียรายงานคาดว่า เธอจะไปพบกับนางไซมา วาเจด บุตรสาวที่อยู่ในเดลี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลก.-814.-สำนักข่าวไทย

ผู้ประท้วงบังกลาเทศต้องการให้เจ้าของโนเบลร่วมรัฐบาลชั่วคราว

ธากา 6 ส.ค.- กลุ่มผู้ประสานงานการประท้วงของนักศึกษาบังกลาเทศเรียกร้องให้แต่งตั้งนายมูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาของรัฐบาลชั่วคราวที่จะตั้งขึ้น หลังจากนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ลี้ภัยออกนอกประเทศ กลุ่มผู้ประสานงานโพสต์คลิปผ่านเฟซบุ๊กในวันนี้ว่า ทางกลุ่มจะไม่ยอมรับรัฐบาลใดก็ตามที่ไม่มีนายยูนุส และจะไม่ยอมรับรัฐบาลที่กองทัพให้การสนับสนุนหรือมีกองทัพเป็นแกนนำ พวกเขาได้หารือกับนายยูนุสแล้ว และนายยูนุสได้ยอมรับหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ เพื่อปกป้องประชาชนชาวบังกลาเทศ นายยูนุสวัย 84 ปี และธนาคารกรามีนแบงก์ของเขา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2549 จากการอุทิศตนเพื่อช่วยให้ชาวบังกลาเทศหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ผ่านการปล่อยสินเชื่อต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำกว่า 3,545 บาท) แต่ขณะนี้เขากำลังถูกศาลไต่สวนในคดียักยอกทรัพย์ ซึ่งเขาปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด นายยูนุสได้ให้สัมภาษณ์สื่ออินเดียว่า วันที่ 5 สิงหาคมถือเป็นวันปลดปล่อยครั้งที่ 2 ของบังกลาเทศ หลังจากบังกลาเทศทำสงครามเรียกร้องเอกราชจากปากีสถานในปี 2514 ขณะเดียวกันกองทัพบกบังกลาเทศแถลงว่า ผู้บัญชาการกองทัพบกจะพบกับแกนนำนักศึกษาในวันนี้ หนึ่งวันหลังจากที่เขาเป็นผู้แถลงทางโทรทัศน์ว่า นางฮาซีนาได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะมีตั้งรัฐบาลชั่วคราว.-814.-สำนักข่าวไทย

ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อสถานการณ์ในบังกลาเทศ

นิวยอร์ก 6 ส.ค.- สหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในบังกลาเทศ ใช้ความอดทนอดกลั้น และให้ตั้งรัฐบาลชั่วคราวตามแนวทางประชาธิปไตย รองโฆษกยูเอ็นกล่าวว่า นายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็นรู้สึกเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตผู้คนในเหตุประท้วงในบังกลาเทศที่เกิดขึ้นช่วงสุดสัปดาห์ จึงเรียกร้องความสงบและการอดกลั้นจากทุกฝ่าย ขอให้กระบวนการส่งผ่านอำนาจ ดำเนินไปโดยสันติ สงบเรียบร้อยและเป็นประชาธิปไตย และขอให้กองกำลังฝ่ายความมั่นคงปกป้องกลุ่มผู้ประะท้วงทั้งในกรุงธากาและเมืองอื่น ๆ ทั่วประเทศ ขณะที่นายแมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐแถลงว่า สหรัฐสนับสนุนการตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบังกลาเทศ โดยขอให้ดำเนินการตามแนวทางประชาธิปไตยและครอบคลุมทุกฝ่าย หลังนายกรัฐมนตรีเชค ฮาซีนา ของบังกลาเทศ ลี้ภัยเหตุประท้วงรุนแรงไปอินเดีย ด้านกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีแถลงเน้นย้ำว่า บังกลาเทศต้องไม่ออกนอกเส้นทางประชาธิปไตย ท่ามกลางเหตุความไม่สงบในประเทศ เช่นดียวกับนายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้านโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป หรืออียู (EU) เรียกร้องให้ยุติเหตุรุนแรงในบังกลาเทศ ขอให้ทุกฝ่ายรับประกันจะมีการส่งผ่านอำนาจสู่รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันรัฐบาลอินเดียที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนางฮาซีนายังไม่แถลงใด ๆ แต่ได้เพิ่มการเฝ้าระวังตามแนวพรมแดนติดกับบังกลาเทศ หลังจากผู้บัญชาการกองทัพบกบังกลาเทศแถลงเมื่อวานนี้เรื่องจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีตนเองทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี.-810(814).-สำนักข่าวไทย

...