เปิดยิ่งใหญ่ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภาค

12 ก.พ. – วธ.เปิดยิ่งใหญ่งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภาค พื้นที่แรกภาคใต้ 10-13 ก.พ.นี้ ที่พัทลุง เชิญชวนเที่ยวชมงาน เรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีและศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ ขับเคลื่อน “Soft Power” ความเป็นไทย สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” ภาคใต้ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษฎา คงคะจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิญญ์ สิทธิเชนทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดภาคใต้ ศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายทางวัฒนธรรมและชาวจังหวัดพัทลุงเข้าร่วม ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมมือกับจังหวัด หน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรมจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” 4 ภาค ซึ่งเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในจังหวัดของทุกภาค เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ วธ.คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” และปรับเปลี่ยนภารกิจทั้งการสร้างคุณค่าทางสังคมและมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “วัฒนธรรมทำงาน ทำเงิน ทำดี” โดยพื้นที่ภาคใต้ จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ขึ้นภายใต้ชื่องาน “เสน่ห์เมืองหนังโนรา รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้” วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียน “โนรา” ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งผูกพันกับชีวิตและเป็นที่นิยมของคนไทยในภาคใต้ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

ภายในงานมีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น โนราทำบท รำมโนราห์ตัวอ่อน หนังตะลุงประยุกต์ หนังตะลุงคน ดิเกร์ฮูลู รองเง็ง ลิเกป่า มหกรรมโขน มหกรรมวัฒนธรรม 4 ภาค การแสดงดนตรีพื้นบ้าน วงเบอมูดาอัสรี จังหวัดปัตตานี รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้ ระบำวิถีถิ่นพังงา เป็นต้น นิทรรศการ เช่น โนรา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การเสวนา อาทิ โนรา นาฏลักษณ์เมืองปักษ์ใต้ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่สากล ศิลปะร่วมสมัยสร้างรายได้สู่ชุมชน การสาธิต จำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 14 จังหวัดภาคใต้

ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนประชาชนเที่ยวชมงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯภาคใต้ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณีและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ CPOT ของชุมชนคุณธรรมฯ ภาคใต้ โดยการจัดงานครั้งนี้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่จัดกิจกรรมครั้งต่อไปนั้น คือ ภาคกลาง จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ เดือนเมษายน 2565 ณ จังหวัดตราด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดงานเดือนพฤษภาคม 2565 ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคเหนือ จัดงานเดือนกรกฎาคม 2565 ณ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่ง วธ.จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ 4 ภาคขึ้นเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5F ตามนโยบายรัฐบาล รวมถึง วธ.มีนโยบายสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จึงมุ่งส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ศิลปินพื้นบ้าน ได้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่เยาวชนและประชาชน อีกทั้งสนับสนุนการนำสินค้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดต่างๆ มาสาธิตและจำหน่าย. – สำนักข่าวไทย

วธ.จัดมหกรรมวัฒนธรรม เฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ

วธ.จัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พร้อมชวนคนไทยใส่เสื้อสีฟ้าตลอดเดือน ส.ค.

...