นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ASEAN-UN ครั้งที่ 12
กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 11 พ.ย. – นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุม ASEAN-UN ครั้งที่ 12 ย้ำความมุ่งมั่นของไทยในฐานะผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลฯ มุ่งสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 12 โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 9 ประเทศ เลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการอาเซียน ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยการประชุมนี้เป็นการประชุมเพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ แลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ รวมทั้งกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของถ้อยแถลง ดังนี้
นายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของสหประชาชาติในการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติตลอด 7 ทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย
ทั้งนี้ แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่อาเซียนและสหประชาชาติสามารถร่วมกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2021-2025 ให้มีความคืบหน้าไปมากในระยะเวลาเพียง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน และความร่วมมือด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข
นายกรัฐมนตรีย้ำความมุ่งมั่นของไทยในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการเดินหน้าขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ เพื่อนำไปสู่ประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยไทยได้ร่วมกับยูเอ็นเอสแคปจัดการประชุมระดับสูง เพื่อผลักดันข้อริเริ่มความเกื้อกูลฯ มาแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งไทยได้นำเสนอแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนา
นอกจากนี้ไทยยังร่วมกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดกิจกรรมคู่ขนานในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน สู่การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและลดการเผชิญหน้าระหว่างภาคีภายนอกของอาเซียน
โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนและสหประชาชาติต้องกระชับความร่วมมือและเสริมสร้างความเกื้อกูลกันมากขึ้น รวมถึงร่วมสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพและความไว้วางใจกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการเจรจาหารือเพื่อลดความขัดแย้ง เสริมสร้างความสงบสุขและเสถียรภาพในทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเปิดพื้นที่ไปสู่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นำมาซึ่งความมั่นคง มั่งคั่งของโลกโดยรวม โดยเวทีการประชุมต่างๆ ที่จัดขึ้นในห้วงเวลานี้จะเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างบรรยากาศของการหันหน้าเข้าหากัน ส่งเสริมความไว้วางใจกัน และหาหนทางลดอุณหภูมิแห่งความขัดแย้ง ซึ่งไทยมุ่งมั่นให้เป็นเวทีเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจโลกและการฟื้นฟูในบริบทโลกหลังโควิด-19 ทั้งนี้ ไทยเห็นว่าการพบกันผ่านเวทีการประชุมเป็นโอกาสดีในการส่งเสริมความไว้ใจกัน ซึ่งในการประชุมเอเปคที่ไทยนั้น ไทยมุ่งหวังให้เป็นเวทีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ ผ่านหัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกัน.-สำนักข่าวไทย