ราคาไข่ไก่ปรับครั้งที่ 2 ใน 1 เดือน เป็นฟองละ 3.60 บาท
สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แจ้งปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 10 สตางค์ มีผลวันนี้ ทำให้ราคาอยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท หรือปรับขึ้นแผงละ 3 บาท
สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แจ้งปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 10 สตางค์ มีผลวันนี้ ทำให้ราคาอยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท หรือปรับขึ้นแผงละ 3 บาท
พรุ่งนี้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับขึ้นอีกฟองละ 10 สตางค์ตามประกาศของเครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยแจ้งปรับราคาจากฟองละ 3.40 บาทเป็น 3.50 บาท โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 หลังปรับขึ้น 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคม
กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แจ้งปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มขึ้นอีก 20 สตางค์เป็น 3.40 บาท โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม จากที่ก่อนหน้านี้ราคาไข่ไก่ดิ่งลงต่ำกว่าฟองละ 2.80 บาท เนื่องจากไข่ไก่ล้นตลาด สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่สูงต่อเนื่อง ขณะที่กรมการค้าภายในย้ำร้านอาหารตามสั่งอย่าขึ้นราคาแพงเกินไป และขอให้ผู้บริโภคเห็นใจผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้นทุนแพงขึ้นแต่อยู่ในเพดานราคาที่รัฐติดตามอยู่ เครือข่ายสหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูด จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด แจ้งประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ราคาแนะนำไข่ไก่คละอยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท (น้ำหนัก 20.5 กิโลกรัมขึ้นไป) ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงราคาจะแจ้งให้ทราบภายหลัง การปรับราคาขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ราคาไข่หน้าฟาร์มตกต่ำอย่างมากเนื่องจากผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งราคาต่ำกว่า 2.80 บาทต่อฟอง เกษตรกรจึงร้องขอให้กรมปศุสัตว์ช่วยเหลือ พร้อมระบุว่า ราคาจำหน่ายที่ต่ำลงสวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งค่าอาหารสัตว์และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย–ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาทต่อฟอง ทางด้านกรมปศุสัตว์ได้ประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตไข่ไก่ ทั้งรายเล็ก รายกลางและรายใหญ่ พบว่า ผู้เลี้ยงไก่ไข่บางส่วนลดการปลดไก่ไข่ลงเนื่องจากราคาไข่ไก่ช่วงต้นปีปรับสูงขึ้นเป็นแรงจูงใจ เป็นเหตุให้กำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาก ร่วมกับภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด จึงได้มีการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประกอบด้วย 1) ขอความร่วมมือผู้ประกอบการเร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม โดยไม่เกิน 80 สัปดาห์ 2) ขอความร่วมมือผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ (PS) 16 ราย ร่วมกันผลักดันไข่ไก่ส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนดทดแทน เป้าหมายเพื่อลดปริมาณไข่ไก่ภายในประเทศ 58 ล้านฟอง ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 ผลการดำเนินการส่งผลให้สถานการณ์ไข่ไก่ล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย และปริมาณการผลิต-การบริโภคเริ่มกลับสู่สมดุลทำให้สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายแห่งมีการประกาศราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกรในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง แล้วปรับขึ้นอีกครั้งในวันนี้ ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า ในปี 2564 มีไก่ไข่ 50.90 ล้านตัว มีไข่ไก่ประมาณ 42 ล้านฟองต่อวัน ทั้งปีผลิตได้ 15,420 ล้านฟอง ส่วนอัตราการบริโภคไข่ไก่ใน พ.ศ. 2564 คิดเป็น 230 ฟอง/คน/ปี ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 225 ฟอง/คน/ปี ซึ่งลดลงกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งอัตราการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยต่ำกว่าประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น 345 ฟอง/คน/ปี จีน 399 ฟอง/คน/ปี เป็นต้น ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่และพัฒนาโภชนาการให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย เพื่อเพิ่มอัตราการบริโภคไข่ไก่ของคนไทยในภาพรวมตามเป้าหมายปี 2566 ให้ได้ 300 ฟอง/คน/ปี นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวถึงกรณีที่ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ 3.40 บาท/ฟอง ที่มีผลตั้งแต่วันนี้ (20 ก.ค.) นั้น สาเหตุหลักมาจากก่อนหน้านี้กรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศลดจำนวนแม่ไก่ลง ทำให้ปริมาณไข่ไก่ที่จะออกสู่ตลาดน้อยลงและจากภาวะต้นทุนทั้งอาหารเลี้ยงสัตว์ ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไข่ไก่มีมาก ซึ่งการปรับขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์มมาอยู่ที่ฟองละ 3.40 บาทในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในข้อตกลงที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยตกลงกับทางกรมการค้าภายในของเพดานราคาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้ปริมาณไข่ไก่น้อยลง แต่คาดว่าในเร็ว ๆ นี้ ปริมาณไข่ไก่จะเพิ่มขึ้นเข้ามาในระบบ และจะทำให้ราคาไข่ไก่ปรับลดลงตามกลไกตลาดได้ ซึ่งการติดตามราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคของกระทรวงพาณิชย์มีการตรวจเช็กทุกวัน โดยสินค้าที่อยู่ในกลุ่มการครองชีพทางกรมการค้าภายในดูแลอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ว่าราคาไข่ไก่ในตลาดจะสูงขึ้นหรือลดลง กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงการพาณิชย์ลดค่าครองชีพทั่วประเทศต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยจะนำสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไก่ ไข่ น้ำมันปาล์มและอื่น ๆ ไปจำหน่ายทุกพื้นที่ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนได้เลือกซื้อสินค้าราคาถูกว่าท้องตลาดมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังร่วมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบราคาสินค้าทั้งตลาดสดและห้างสรรพสินค้า เพื่อติดตามไม่ให้สินค้าขาดแคลน รวมถึงยังสุ่มตรวจร้านอาหารทุกพื้นที่ไม่ให้เกิดปัญหาโก่งราคาสินค้ามากจนเกินไป ดังนั้น ฝากเตือนผู้ที่จะฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคที่กระทำการค้ากำไรเกินควรให้หยุด หากประชาชนพบเห็นพฤติกรรมร้องเรียนสายด่วน 1569 ได้ทันที ซึ่งโทษผู้กระทำการค้ากำไรเกินควรมีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย