การบินห่วงความปลอดภัยเครื่องบินจอดไว้นาน
ซิดนีย์ 15 ธ.ค. – องค์การระหว่างประเทศ ผู้รับประกันภัย และผู้เชี่ยวชาญเตือนสายการบินต่าง ๆ ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเครื่องบินกลับมาขึ้นบินอีกครั้ง หลังถูกจอดทิ้งไว้เป็นเวลานานในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่า ปีนี้มีเรื่องการจัดการย่ำแย่หรือขาดความสม่ำเสมอพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการลงจอดที่รุนแรงกว่าปกติ การลื่นไถลออกนอกทางวิ่ง และเครื่องบินชน ขณะที่หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมการบินทวีปเอเชียของเอออน บริษัทผู้ให้บริการจัดการความเสี่ยงชั้นนำของโลกตั้งข้อสงสัยว่า สายการบินได้ฝึกนักบินเป็นพิเศษในเรื่องการลงจอดหรือไม่ ด้านองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA) เผยว่า ได้รับรายงานเรื่องเครื่องบินที่ขึ้นบินครั้งแรกหลังจอดทิ้งไว้เป็นเวลานานมีปัญหาค่าความเร็วอากาศยานและค่าระดับความสูงเชื่อถือไม่ได้ ทำให้ต้องยกเลิกการบินขึ้นหรือนำเครื่องบินกลับมายังฐานปฏิบัติการ ปัญหาส่วนใหญ่ล้วนมีสาเหตุมาจากการตรวจไม่พบว่า มีรังแมลงอยู่ในอุปกรณ์วัดความเร็วลมที่อยู่ด้านหน้าอากาศยาน เป็นสาเหตุให้สายการบินเช่าเหมาลำแห่งหนึ่งของตุรกีตกหลังขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือสาธารณรัฐโดมินิกันได้ไม่นาน และทำให้ผู้โดยสาร 189 คนเสียชีวิตทั้งลำในปี 2539 องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรปเผยด้วยว่า ปัญหาที่พบในเครื่องบินที่ถูกจอดทิ้งไว้เป็นเวลานาน ได้แก่ เครื่องยนต์หยุดทำงานในระหว่างบินหลังพบปัญหาขัดข้องทางเทคนิค การปนเปื้อนในระบบน้ำมันเชื้อเพลิง แรงดันห้ามล้อที่ลดลง และแบตเตอรี่ฉุกเฉินเสื่อมประสิทธิภาพ ขณะที่ตัวแทนสมาพันธ์นักบินนานาชาติ (IFALPA) เน้นย้ำว่า นักบินจำเป็นต้องได้รับการประเมินตามความเป็นจริงเรื่องทักษะการบินและความมั่นใจก่อนกลับมาปฏิบัติการบิน. -สำนักข่าวไทย