จีนยกย่อง “คิสซิงเจอร์” นักการทูตอเมริกันที่ล่วงลับ

ปักกิ่ง 30 พ.ย.- จีนยกย่องนายเฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐที่ถึงแก่กรรมว่า เป็นเพื่อนเก่าของจีนผู้สร้างสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ นายเซี่ย เฟิง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐโพสต์ผ่านเอ็กซ์ (X) ว่า การถึงแก่กรรมของนายคิสซิงเจอร์เป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อจีน สหรัฐและโลก ประวัติศาสตร์จะจารึกสิ่งที่นายคิสซิงเจอร์ได้อุทิศตนให้แก่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ เขาจะยังคงมีชีวิตอยู่ตลอดกาลในหัวใจของประชาชนชาวจีนในฐานะเพื่อนเก่าที่ทรงคุณค่ามากที่สุด สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (CCTV) ประกาศข่าวมรณกรรมของนายคิสซิงเจอร์ในวันนี้ด้วยการยกย่องการที่เขาอุทิศตนครั้งประวัติศาสตร์ให้แก่การเปิดประตูไปสู่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ เขาเป็นประจักษ์พยานคนสำคัญที่ได้เห็นการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐ และพัฒนาการของความสัมพันธ์นี้ คิสซิงเจอร์มีความผูกพันกับจีนอย่างลึกซึ้ง และได้พบกับผู้นำจีนหลายครั้ง การถึงแก่กรรมของนายคิสซิงเจอร์วัย 100 ปี เป็นกระแสยอดนิยมในวันนี้ของโลกออนไลน์จีนอย่างเวยปั๋วและไป่ตู้ ผู้ใช้งานหลายคนระบุว่า นายคิสซิงเจอร์ยังคงพยายามอย่างเต็มที่ให้แก่ความสัมพันธ์ที่ยากลำบากของสหรัฐ-จีนในช่วงหลายปีก่อนที่จะเสียชีวิต เขาเป็นทั้งคู่แข่งและหุ้นส่วนที่ดีมาก การจากไปของเขาเป็นการสูญเสียอย่างคำนวณมิได้ทั้งต่อจีนและสหรัฐ.-814.-สำนักข่าวไทย

เฮนรี คิสซิงเจอร์ นักการทูตคนดังของสหรัฐ ถึงแก่กรรมในวัย 100 ปี

นิวยอร์ก 30 พ.ย.- นายเฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐผู้สร้างผลงานโดดเด่นทางการทูตระหว่างประเทศ ถึงแก่กรรมแล้วด้วยวัย 100 ปี คิสซิงเจอร์ แอสโซซิเอต บริษัทที่ปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศของเขาประกาศเมื่อค่ำวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์ นักวิชาการและรัฐบุรุษชาวอเมริกันที่น่าเคารพได้ถึงแก่กรรมในวันพุธที่บ้านพักในรัฐคอนเนตทิคัต ครอบครัวจะประกอบพิธีศพเป็นการส่วนตัว และจะจัดพิธีรำลึกที่นครนิวยอร์กในภายหลัง คำประกาศไม่ได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของนายคิสซิงเจอร์ แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เขาเพิ่งเดินทางไปพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนที่กรุงปักกิ่ง คิสซงเจอร์เป็นผู้ทำงานอยู่เบื้องหลังที่นำมาซึ่งการเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันในปี 2515 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังทำสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และตามมาด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐกับจีนในวันที่ 1 มกราคม 2522 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2516 จากความพยายามเจรจาเพื่อยุติสงครามเวียดนาม แม้ว่าสงครามยังคงดำเนินต่อไปหลังจากนั้น ขณะที่นายเล ดึ๊กเถาะ นักการทูตของเวียดนามซึ่งเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ไม่ยอมรับรางวัลดังกล่าวที่ได้รับร่วมกับคิสซิงเจอร์ นักการทูตคนดังของสหรัฐถูกวิจารณ์เรื่องดำเนินนโยบายการทูตแบบเรียลโพลิทิก (realpolitik) ที่ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ โดยพิจารณาจากปัจจัยและสถานการณ์เป็นหลัก และไม่ผูกมัดตัวเองกับแนวคิดเชิงอุดมคติ ศีลธรรมหรือจริยธรรม.-814.-สำนักข่าวไทย

...