fbpx

พนง.ขับรถไฟญี่ปุ่นฟ้องนายจ้างหลังถูกหักเงินเดือน 16 บาท

โตเกียว 11 พ.ย. – พนักงานขับรถไฟชาวญี่ปุ่นยื่นฟ้องบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันตก (West Japan Railway) หรือเจอาร์เวสต์ ซึ่งเป็นนายจ้าง หลังจากที่เขาถูกหักเงินเดือน 56 เยน (16 บาท) เนื่องจากทำให้ระบบรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านความตรงต่อเวลาของญี่ปุ่นล่าช้า 1 นาที หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุน ของญี่ปุ่นรายงานวันนี้ว่า พนักงานขับรถไฟได้ยื่นฟ้องบริษัทเจอาร์เวสต์ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังถูกหักเงินเดือนในเดือนมิถุนายปีก่อนฐานทำให้รถไฟล่าช้า และเขาได้เรียกค่าเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเป็นเงิน 2.2 ล้านเยน (ราว 640,000 บาท) สื่อดังกล่าวยังระบุว่า ที่มาของการฟ้องร้องในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่พนักงานคนดังกล่าวต้องขับรถไฟขบวนเปล่าไปไว้ในโรงเก็บรถไฟที่สถานีโอกายามะ ทางตะวันตกของญี่ปุ่น แต่เขากลับขับรถไฟเข้าผิดชานชาลาจนทำให้เกิดความวุ่นวายและทำให้การเดินรถไฟล่าช้าไป 1 นาที ในขณะเดียวกัน เจอาร์เวสต์ระบุว่า การหักเงินเดือนของพนักงานคนดังกล่าวนั้นสมเหตุสมผล เนื่องจากไม่มีการทำงานในช่วงที่เกิดความวุ่นวายหลังจากที่เขาขับรถไฟเข้าผิดชานชาลา ขณะที่โฆษกของเจอาร์เวสต์ยืนยันว่า บริษัทถูกฟ้องร้องตามที่สื่อญี่ปุ่นรายงานจริง แต่ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว.-สำนักข่าวไทย

รัสเซียยกเลิกคำสั่งห้ามผู้หญิงขับรถไฟ

มอสโก 21 ม.ค. – รัสเซียประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามผู้หญิงประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น พนักงานขับรถไฟ ผู้ควบคุมขบวนรถไฟ และพนักงานขับรถบรรทุก โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา มุสโควิต โซเฟีย โดโรฟีเอวา วัย 21 ปีชื่นชอบการเดินทางโดยรถไฟไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วรัสเซีย แต่ก่อนหน้านี้เธอและผู้หญิงรัสเซียถูกกีดกันไม่ให้ทำงานในตำแหน่งคนขับรถไฟเนื่องจากความต้องการด้านร่างกายหรือลักษณะที่เป็นอันตรายของเพศหญิง โดโรฟีเอวาเพิ่งจบการศึกษาระดับวิทยาลัยที่ฝึกสอนพนักงานระบบขนส่งสาธารณะเมื่อปีก่อน และเฝ้ารอให้ถึงวันแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นวันที่เธอสามารถทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานขับรถไฟได้ เธอกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ผู้หญิงรัสเซียที่ต้องการทำงานนี้ต่างรอคอยให้ถึงเวลานี้มานานมาก ในตอนแรกพวกเธอไม่อยากเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่หลังจากนั้นก็ดีใจมากและรู้สึกเย็นใจขึ้นเพราะสามารถทำงานนี้ได้หลังจากสอบผ่านโดยไม่ต้องต่อสู้เรียกร้อง ก่อนหน้านี้ ผู้หญิงรัสเซียต้องต่อสู้กับรัฐบาลมาเป็นเวลายาวนานเพื่อเรียกร้องให้พวกเธอสามารถประกอบอาชีพที่รัฐมองว่าเป็นความต้องการที่มากเกินไปหรือเป็นอันตราย ย้อนกลับไปในปี 2552 อันนา คลีเวียตส์ นักศึกษาในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซียถูกปฏิเสธจากการสมัครงานในตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานขับรถไฟเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง คลีเวียตส์จึงยื่นเรื่องดำเนินคดีในศาลรัสเซียจนกระทั่งคดีดังกล่าวได้รับการพิจารณาในศาลรัฐธรรมนูญในปี 2554 แต่ผู้หญิงรัสเซียก็ยังถูกกีดกันจากงานดังกล่าวมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งใช้เวลาถึง 10 ปี อย่างไรก็ดี ตอนนี้เธอรู้สึกดีใจที่การต่อสู้ในชั้นศาลก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้น แม้ว่าผู้หญิงรัสเซียจะยังคงถูกกีดกันจากอีกหลายงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดและสารเคมี คลีเวียตส์กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้หญิงควรได้รับโอกาสให้ทำอะไรก็ได้ เพราะผู้หญิงสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าอยากเป็นอะไร อยากไปที่ไหน อยากอยู่กับใคร และอยากทำอะไร. -สำนักข่าวไทย

เพื่อนพนักงานรถไฟฯ ผวา หลังพนักงานขับรถไฟเสียชีวิตจาก COVID-19

ผู้ป่วยที่เสียชีวิตอีกรายจาก COVID-19 ที่ปทุมธานี วานนี้ เป็นพนักงานขับรถไฟ พบตารางทำงาน 26-27 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังทำขบวนกรุงเทพฯ-แก่งคอย เล่นเอาเพื่อนร่วมงานขวัญผวา

...