“ปูติน” เผยมีระเบิดพวงมากพอตอบโต้ยูเครน

มอสโก 16 ก.ค.- ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เผยว่า รัสเซียมีระเบิดพวงหรือคลัสเตอร์บอมบ์ จำนวนมากพอที่จะตอบโต้ หากยูเครนคิดจะใช้อาวุธชนิดนี้ ประธานาธิบดีปูตินให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ของทางการที่มีการเผยแพร่ในวันนี้ว่า รัสเซียมีระเบิดพวงหลากหลายประเภทอยู่ในคลังสำรองมากเพียงพอ หากยูเครนคิดจะใช้ระเบิดพวงกับรัสเซีย รัสเซียก็ขอสงวนสิทธิที่จะดำเนินการตอบโต้ เขาเสริมด้วยว่า จนถึงขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้ใช้ระเบิดพวงแต่อย่างใด แม้ว่ามีการขาดแคลนบ้างเป็นบางช่วงเวลา กลุ่มฮิวแมนไรท์สวอทช์และกองกำลังยูเครนกล่าวหารัสเซียว่า ได้นำระเบิดพวงไปใช้ในสมรภูมิการสู้รบกับยูเครนแล้ว เป็นอาวุธที่ถูกห้ามใช้ในหลายประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงปี 2551 (Convention on Cluster Munitions) เนื่องจากปล่อยระเบิดลูกเล็ก ๆ ที่อาจไม่ระเบิดและตกค้างอยู่นานหลายปี เป็นอันตรายระยะยาวต่อพลเรือน รัสเซีย ยูเครน และสหรัฐไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญานี้ และยูเครนเริ่มได้รับระเบิดพวงจากสหรัฐแล้ว ท่ามกลางเสียงตำหนิจากหลายฝ่าย ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอ้างว่า เป็นการตัดสินใจที่ลำบากใจ แต่ยูเครนจำเป็นต้องได้อาวุธเพิ่ม.-สำนักข่าวไทย

จีนเตือนระเบิดพวงจะก่อปัญหาด้านมนุษยธรรม

ปักกิ่ง 10 ก.ค.- จีนเตือนวันนี้ว่า การส่งมอบระเบิดพวงหรือคลัสเตอร์บอมบ์ (cluster bombs) อย่างไร้ความรับผิดชอบอาจนำมาซึ่งปัญหาด้านมนุษยธรรม หลังจากสหรัฐอนุมัติให้ลำเลียงอาวุธประเภทนี้ให้แก่ยูเครน โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีนกล่าววันนี้ว่า การตัดสินใจของสหรัฐเป็นที่สนใจของประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง และมีหลายประเทศแสดงการคัดค้าน เธอไม่ได้ประณามการตัดสินใจของสหรัฐโดยตรง แต่กล่าวว่า การส่งมอบระเบิดพวงอย่างไร้ความรับผิดชอบอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านมนุษยธรรม จึงควรจัดการอย่างเป็นธรรมระหว่างความกังวลด้านมนุษยธรรม กับความจำเป็นทางการทหารและความมั่นคงที่ชอบธรรม และควรรักษาท่าทีที่รอบคอบและควบคุมเรื่องการส่งมอบระเบิดพวง กลุ่มสิทธิมนุษยชนประณามอย่างรุนแรงต่อการที่สหรัฐตัดสินใจจัดส่งระเบิดพวงให้แก่ยูเครน ทั้งที่เป็นอาวุธต้องห้ามในหลายประเทศ เพราะลูกระเบิดสามารถตกค้างและระเบิดได้ในภายหลัง จึงเป็นอันตรายต่อพลเรือนไปอีกหลายปี  สหรัฐและจีนไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions) ที่ห้ามการใช้ พัฒนา ผลิต ครอบครอง และขนย้ายระเบิดพวง รวมทั้งห้ามส่งเสริมให้ผู้อื่นทำสิ่งต้องห้ามเหล่านี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 และมี 111 ประเทศให้สัตยาบันจนถึงปัจจุบัน ส่วนไทยไม่ได้ลงนามเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย

...