นิวเดลี 1 ก.ค.- อินเดียห้ามใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่วันนี้ หวังแก้ปัญหาขยะพลาสติกอุดตันลำน้ำและเป็นพิษต่อสัตว์ในธรรมชาติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จะเผชิญอุปสรรคจากผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ยังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง
คำสั่งดังกล่าวครอบคลุมการห้ามการผลิต นำเข้าและจำหน่ายพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดดูดน้ำ ภาชนะใส่อาหาร พลาสติกห่อซองบุหรี่ เจ้าหน้าที่จะออกตรวจตราในวันนี้ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ หลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศตั้งแต่ปี 2561 และเพิ่งมาผลบังคับใช้ ผู้ละเมิดจะมีโทษปรับสูงสุด 100,000 รูปี (ราว 44,935 บาท) หรือจำคุก 5 ปี
ด้านอุตสาหกรรมพลาสติกที่จ้างงานคนหลายล้านคนเผยว่า การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และพยายามวิ่งเต้นให้รัฐบาลชะลอการบังคับใช้คำสั่ง พร้อมกับเตือนว่า คำสั่งนี้อาจทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเป็นการชั่วคราว และโรงงานจะขาดทุนเพราะลงทุนซื้อเครื่องจักรไปแล้ว
อินเดียผลิตขยะพลาสติกปีละ 4 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และ 1 ใน 3 ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล โดยไปตกค้างตามแม่น้ำและที่ทิ้งขยะที่มักมีปัญหาไฟไหม้และก่อมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังเป็นอาหารของวัวตาม 2 ข้างทาง และพบร่องรอยพลาสติกตกค้างในมูลช้างป่าทางเหนือของประเทศ.-สำนักข่าวไทย