โตเกียว 23 พ.ค.- ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกเพื่อความรุ่งเรือง (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity หรือ IPEF) โดยให้สมาชิก 13 ประเทศที่มีไทยรวมอยู่ด้วยเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องแนวทางการปฏิบัติตามข้อตกลง และเรื่องจะให้จีนเข้าร่วมกลุ่มด้วยหรือไม่
ประธานาธิบดีไบเดนเปิดตัวเรื่องนี้ที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นในวันนี้ ซึ่งเป็นการเยือนเอเชียครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคม 2564 ทำเนียบขาวสหรัฐแถลงว่า กรอบเศรษฐกิจนี้จะไม่มีเรื่องการช่วยเหลือด้านภาษีหรือการเข้าถึงตลาด แต่จะปูทางไปสู่ประเด็นสำคัญตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงความยืดหยุ่นด้านห่วงโซ่อุปทานและการค้าดิจิทัล นางจินา เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐกล่าวว่า การเปิดตัวเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสหรัฐที่จะกลับมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีทางเลือกในประเด็นสำคัญเหล่านี้ นอกเหนือไปจากแนวทางแบบจีน
คณะเจ้าหน้าที่สหรัฐเผยว่า ประธานาธิบดีไบเดนต้องการให้ข้อตกลงนี้ช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และอื่น ๆ ทั่วเอเชีย อย่างไรก็ดี เนื้อหาข้อตกลงจะต้องเป็นการเจรจาระหว่างประเทศที่เข้าร่วมในเบื้องต้นทั้งหมด 13 ประเทศประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนามและสหรัฐ ประเทศเหล่านี้ต้องเจรจากันเรื่องประเด็นที่ต้องการสร้างมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติ การต้องขอสัตยาบันจากรัฐสภาในประเทศหรือไม่ และการพิจารณารับสมาชิกใหม่ในอนาคต
ด้านนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มนี้ แถลงว่า จีนยินดีหากจะมีความริเริ่มเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาค แต่คัดค้านความพยายามสร้างความแตกแยกและเผชิญหน้า เอเชีย-แปซิฟิกควรเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาอย่างสันติ ไม่ใช่สนามต่อสู้ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเผยกับสื่อบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันว่า ไต้หวันจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของกรอบเศรษฐกิจนี้ แต่สหรัฐจะหาทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไต้หวันต่อไป.-สำนักข่าวไทย