มะนิลา 4 พ.ค. – ฟิลิปปินส์เตรียมจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เพื่อชี้ชะตาว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ในอีก 6 ปีข้างหน้า ต่อจากประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต มารู้จักและเจาะลึกกระบวนการเลือกตั้งครั้งนี้
ตำแหน่งที่มีการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้มีชาวฟิลิปปินส์ที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 67.5 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 110 ล้านคน และการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นในวันเลือกตั้ง ชาวฟิลิปปินส์จะลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภา 12 ที่นั่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 300 ที่นั่ง รวมถึงตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่นอีกราว 18,000 ตำแหน่ง เช่น นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการจังหวัด และสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยที่ทั้งหมดนี้จะรวมอยู่ในบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ทั้งนี้ ตำแหน่งประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกวุฒิสภามีวาระ 6 ปี ส่วนตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่นมีวาระ 3 ปี
ความน่าเชื่อถือในการเลือกตั้ง
รอยเตอร์ระบุว่า แม้ฟิลิปปินส์จะเผชิญกับปัญหาการซื้อเสียง ความรุนแรงทางการเมือง และข้อบกพร่องของระบบลงคะแนนเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลการเลือกตั้ง แต่เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Elections) องค์กรอิสระที่เฝ้าระวังด้านการเลือกตั้งในภูมิภาคเอเชียชี้ว่า การเลือกตั้งในแต่ละครั้งที่ผ่านมาของฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างยุติธรรมและมีเสรีภาพสูงถึงร้อยละ 80
เลือกตั้งท่ามกลางโควิด
การเลือกตั้งในครั้งนี้ของฟิลิปปินส์จะจัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 แต่คณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง (Comelec) ของฟิลิปปินส์ได้ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ในคู่มือดำเนินงานตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่มีความยาว 1,275 หน้าว่า ฟิลิปปินส์จะขยายเวลาเลือกตั้งให้นานขึ้นกว่าเดิม 1 ชั่วโมงเป็นตั้งแต่เวลา 06.00 – 19.00 น. จากเดิมที่ปิดหีบเลือกตั้งเวลา 18.00 น. คู่มือไม่ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิดหรือผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นลบ ซึ่งสอดคล้องกับแถลงการณ์ยืนยันก่อนหน้านี้ของเจ้าหน้าที่คณะกรรมาธิการเลือกตั้ง แต่เจ้าหน้าเลือกตั้งในแต่ละจุดจะเฝ้าระวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการระบาด เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม การตั้งจุดบริการเจลล้างมือ และการสวมหน้ากากอนามัย
คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งยังจะตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนเข้าคูหา ผู้ที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะต้องได้รับการตรวจสุขภาพโดยเจ้าหน้าที่การแพทย์ หากเจ้าหน้าที่การแพทย์ประเมินว่ามีไข้จริง ก็จะถูกส่งตัวให้ไปลงคะแนนในห้องแยก นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งยังได้จัดสถานที่ลงคะแนนแบบฉุกเฉินให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงวัย และสตรีอายุครรภ์แก่อีกด้วย. -สำนักข่าวไทย