นิวยอร์ก 4 เม.ย.- ผลสำรวจพบว่า เจ้าของคริปโทเคอร์เรนซีเกือบครึ่งในสหรัฐ ลาตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกเพิ่งซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เป็นครั้งแรกในปี 2564
เจมิไน บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโทในสหรัฐสำรวจกับคนเกือบ 30,000 คนใน 20 ประเทศระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ปี 2564 ถือเป็นปีทำเงินของคริปโท เพราะภาวะเงินเฟ้อทำให้หลายประเทศที่ค่าเงินอ่อนหันมายอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทนี้ เจ้าของคริปโทร้อยละ 79 เพิ่งซื้อเมื่อปีก่อนเพื่อโอกาสในการลงทุนระยะยาว ผลสำรวจพบว่า คนในบราซิลและอินโดนีเซียถือครองคริปโทมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 41 ของผู้ตอบแบบสำรวจในแต่ละประเทศ ตามมาด้วยสหรัฐร้อยละ 20 และสหราชอาณาจักรร้อยละ 18
ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ถือครองคริปโทและอยู่ในประเทศที่ค่าเงินอ่อนมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีแผนจะซื้อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อมากกว่าคนในประเทศที่ไม่มีปัญหาค่าเงินอ่อนถึง 5 เท่า เช่น อินโดนีเซียที่เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงถึงครึ่งหนึ่งช่วงปี 2554-2563 และอินเดียที่เงินรูปีอ่อนค่าลงร้อยละ 17.5 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีคนอยากซื้อคริปโทเป็นครั้งแรกถึงร้อยละ 64 เทียบกับคนในสหรัฐและยุโรปที่คิดเช่นนี้เพียงร้อยละ 16 และ 15 ตามลำดับ
บิทคอยน์ ซึ่งเป็นคริปโทยอดนิยมที่สุดทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดมีมูลค่ามากกว่าหน่วยละ 68,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.28 ล้านบาท) ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ส่งผลให้มีมูลค่าตลาดถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100.53 ล้านล้านบาท) ก่อนปรับลดลงมาซื้อขายเฉลี่ยที่หน่วยละ 34,000-44,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.14-1.47 ล้านบาท) ในปีนี้.-สำนักข่าวไทย