โซล 9 ก.ย. – คณะนักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้กล่าวว่า พวกเขาได้พัฒนาวัสดุที่เป็นเหมือนผิวหนังเทียม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีววิทยาธรรมชาติ ที่สามารถปรับเปลี่ยนเฉดสีได้อย่างรวดเร็วคล้ายกับกิ้งก่าคาเมเลียนที่เปลี่ยนสีผิวหนังไปตามสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวมัน
คณะนักวิจัยที่นำโดย โค ซึง-ฮวาน ศาสตราจารย์เครื่องกลแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล สร้างผิวหนังด้วยการใช้หมึกพิเศษที่เปลี่ยนสีไปตามอุณหภูมิและควบคุมโดยใช้เครื่องทำความร้อนขนาดจิ๋วที่มีความยืดหยุ่น โค กล่าวว่า หากว่าสวมใส่เครื่องแบบชุดลายพรางทหารสีเขียวอยู่ในทะเลทราย ก็จะสามารถมองเห็นได้ง่าย การเปลี่ยนรูปแบบสีไปตามสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เป็นเทคโนโลยีลายพรางที่คณะนักวิจัยคิดค้นขึ้นมาในครั้งนี้ คณะนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้หมึกที่เรียกว่าผลึกเหลวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือ ทีแอลซี และใช้เครื่องทำความร้อนที่เป็นเส้นลวดเงินขนาดจิ๋ววางติดตั้งเป็นแนวตั้งหลาย ๆ ชั้น รวมทั้งใช้หุ่นยนต์ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับสี ดังนั้นไม่ว่าสีอะไรที่เซ็นเซอร์เห็นรอบ ๆ ตัวมัน ผิวหนักก็จะพยายามเลียนแบบ
ในคลิปวิดีโอ จะเห็นหุ่นยนต์รูปร่างแบบเดียวกับกิ้งก่า คลานไปบนพื้นสีแดง น้ำเงิน และเขียว มันก็จะเปลี่ยนแปลงสีของผิวหนังไปตามสีของพื้น ผิวหนังเทียมนี้ มีความยืดหยุ่นสูงและมีขนาดบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ โค กล่าวว่า ผิวหนังเทียมที่มีความยืดหยุ่นและเปลี่ยนสีได้นี้ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นอุปกรณ์ที่สามารถสวมใส่ได้และใช้ในวงการแฟชั่น เครื่องแบบลายพรางของกองทัพ ตกแต่งภายนอกรถยนต์ และอาคารต่าง ๆ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย