เจนีวา 9 ส.ค. – องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ระบุในรายงานด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศว่า คลื่นความร้อนรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวทุกๆ 50 ปี อาจเกิดเร็วขึ้นเป็นทุก 10 ปี เนื่องจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่ฝนตกหนักและภัยแล้งก็จะเกิดบ่อยขึ้นกว่าเดิม
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี ของยูเอ็น ได้ประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์รุนแรงต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยที่รายงานดังกล่าวพบว่า คลื่นความร้อนมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยกว่าเหตุการณ์รุนแรงอื่น ๆ โดยที่จากเดิมจะเกิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งทุก 50 ปี อาจเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเป็นทุก 6 ปีจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และคาดว่าอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมภายในเวลา 200 ปี ทั้งนี้ ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเป็น 4 องศาเซลเซียสจากการปล่อยมลพิษสูง ก็จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงบ่อยขึ้นเป็นทุก 1-2 ปี
รายงานดังกล่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า เหตุฝนตกหนักที่เกิดขึ้นครั้งเดียวทุก 10 ปีมีแนวโน้มที่จะเกิดเร็วขึ้น 1.3 เท่าในปัจจุบัน และตกหนักขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วง 50 ปีก่อนถึงปี 2443 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะโลกร้อนจากฝีมือของมนุษย์ ขณะที่ภัยแล้งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวทุก 10 ปีในช่วงก่อนหน้านี้ก็จะเกิดเร็วขึ้นเป็นทุก 5-6 ปี
ในขณะเดียวกัน หัวหน้าคณะผู้เขียนรายงานดังกล่าวและนักฟิสิกส์ด้านสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเซาเปาลูของบราซิลกล่าวว่า คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในแคนาดา ไฟป่าที่ลุกลามในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ น้ำท่วมในเยอรมนี อุทกภัยในจีน และภัยแล้งในพื้นที่ตอนกลางของบราซิลได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่าสภาพภูมิอากาศสุดขั้วกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อโลก.-สำนักข่าวไทย