ลอนดอน 22 ก.ค. – ผลวิจัยที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สองโดสของไฟเซอร์หรือแอสตราเซนเนกามีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดียได้เกือบเทียบเท่ากับประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในอังกฤษ
ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารการแพทย์นิวอิงแลนด์ยืนยันผลการศึกษาของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษในเดือนพฤษภาคมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิดที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอนเทคและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับแอสตราเซนเนกา โดยอ้างอิงข้อมูลจริงจากทั่วโลก ผลวิจัยดังกล่าวระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์สองโดสมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ร้อยละ 88 เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาที่ร้อยละ 93.7 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับรายงานก่อนหน้านี้ ขณะที่วัคซีนของแอสตราเซนเนกาสองโดสมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาร้อยละ 67 เพิ่มขึ้นจากรายงานเดิมที่มีร้อยละ 60 และมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาร้อยละ 74.5 เมื่อเทียบกับรายงานเดิมที่มีร้อยละ 66
คณะนักวิจัยของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษยังระบุในผลวิจัยดังกล่าวว่า วัคซีนทั้งสองขนานมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในด้านประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาเมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาหลังได้รับวัคซีนครบสองโดส นอกจากนี้ ยังพบว่า วัคซีนของไฟเซอร์โดสแรกมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้เพียงร้อยละ 36 และวัคซีนของแอสตราเซนเนกาโดสแรกมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 30 เป็นตัวเลขที่สนับสนุนให้กลุ่มเสี่ยงเร่งฉีดวัคซีนครบสองโดสเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา. -สำนักข่าวไทย