วอชิงตัน 17 เม.ย. – กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าววานนี้ว่า เวียดนาม สวิตเซอร์แลนด์และไต้หวัน อยู่ในข่ายว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการบิดเบือนค่าเงินตรา ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐปี 2015 แต่ไม่ได้ฟันธงอย่างเป็นทางการว่า ทั้งสามประเทศดังกล่าวบิดเบือนค่าเงินตรา ส่วนประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเหมือนเดิม
นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เผยแพร่รายงานครึ่งปีฉบับแรกในเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยระบุว่า จะเริ่มการยกระดับการหารือกับไต้หวัน และเจรจากับเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์แทรกแซงค่าเงินตรา กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า ในปี 2020 ไต้หวัน เวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในข่ายเกินหลักเกณฑ์ของการแทรงแซงเงินตราที่สหรัฐกำหนดไว้ในปี 2015 คือได้เปรียบ
ดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า ริอยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี และสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าร้อยละ 2% ของจีดีพี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ถือว่าเป็นหลักฐานที่เพียงพอที่จะสรุปว่า เวียดนามสวิตเซอร์แลนด์ หรือ ไต้หวัน บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ กระทรวงการคลังสหรัฐจะพิจารณาประเมินอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่า มี 11 ประเทศที่อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบใด ๆ หลังจากที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีนี้ต่อเนื่องจากการประเมินครั้งก่อนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวในแถลงการณ์ว่า ประเทศไทยไม่เคยใช้อัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย