สหรัฐ 18 ธ.ค.-เกษตรกรในสหรัฐนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างไร ติดตามชมในสีสันต่างประเทศ
ภัยแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนียผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่แถบนี้พยายามสรรหาวิธีใช้น้ำทุกหยดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และหลังจากทางการสหรัฐผ่อนปรนข้อบังคับในการใช้โดรนขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ได้ ทำให้เกษตรกรนำโดรนมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้งที่เป็นปัญหาติดต่อกันมาถึง 4 ปีแล้ว เกษตรกรจะส่งโดรนที่ติดตั้งกล้องถ่ายภาพความร้อนขึ้นสำรวจพื้นที่การเกษตร เพื่อค้นหาบริเวณที่มีสภาพเปียกชื้น ซึ่งอาจเกิดจากมีการรั่วไหลของน้ำในระบบชลประทาน
แคนนอน ไมเคิล เกษตรกรเจ้าของฟาร์มใกล้กับเมืองลอส บาโนส ลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยด ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 40-50 ของปริมาณน้ำที่เคยใช้มา และยังนำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาช่วยตรวจหาจุดที่อาจมีปัญหาก่อนที่จะสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ไมเคิลคาดว่าโดรนที่ใช้ตรวจหาจุดรั่วไหลของน้ำจะช่วยให้มีน้ำไว้ใช้ได้เพียงพอเป็นเวลา 1 ปี สำหรับ 550 ครัวเรือน
ปัจจุบันในสหรัฐมีบริษัทราว 2,100 แห่งได้รับอนุญาตให้ใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่เกษตรกรรมได้ นอกจากสหรัฐแล้ว ในแคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และลาตินอเมริกา ก็มีการนำโดรนไปใช้ในพื้นที่การเกษตร
ด้วยราคาที่ถูกลงและใช้งานได้ง่ายขึ้น เกษตรกรสามารถสั่งซื้อโดรนผ่านทางออนไลน์ได้ในราคาราว 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 70,000 บาท ผู้ใช้สามารถเชื่อมกล้องวิดีโอของโดรนเข้ากับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตที่ใช้ควบคุมโดรนได้ เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้โดรนถ่ายวิดีโอภาพผลผลิต หรือใช้กล้องอินฟาเรดถ่ายภาพที่ช่วยให้เห็นสีสันที่แตกต่างกัน เพื่อค้นหาบริเวณที่เกิดปัญหา และให้ทีมช่างเข้าไปแก้ไขได้ตรงจุด.-สำนักข่าวไทย