เรคยาวิก 6 มี.ค.- สำนักอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์แจ้งว่า พื้นที่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกำลังเกิดแผ่นดินไหวรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ครั้งนับจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้เกิดความวิตกว่าภูเขาไฟลูกหนึ่งอาจจะปะทุ
เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ซีบีเอสนิวส์ของสหรัฐอ้างสำนักอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ว่า การเคลื่อนตัวของแมกมาหรือหินหนืดใต้เปลือกโลกน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้คาบสมุทรเรคยาเนสเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ เฉพาะช่วง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมาเกิดแผ่นดินไหวกว่า 3,000 ครั้ง ในจำนวนนี้ 63 ครั้งมีขนาดตั้งแต่ 3 ขึ้นไป เป็นขนาดที่สามารถรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนแต่แทบไม่สร้างความเสียหาย แต่หากแผ่นดินไหวเกิดถี่ขึ้น อันตรายก็จะยิ่งมากขึ้น แผ่นดินไหวลักษณะเดียวกันนี้เคยทำให้ภูเขาไฟปะทุมาแล้ว ทางสำนักงานได้แจ้งเตือนภัยระดับสีส้ม หมายความว่า มีความไม่ปกติมากขึ้น และมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าจะเกิดภูเขาไฟปะทุ
เว็บไซต์รัฐบาลไอซ์แลนด์แจ้งเมื่อวันพฤหัสบดีว่า พบการสั่นสะเทือนใกล้ภูเขาไฟเคลีร์ (Keilir) บนคาบสมุทรดังกล่าวเมื่อวันพุธ หากปะทุก็คงมีขนาดค่อนข้างเล็ก กินเวลาไม่กี่สัปดาห์ เป็นลาวาไหลช้า ๆ มากกว่าปะทุใหญ่และพ่นเถ้าละออง มีความเสี่ยงต่ำมากต่อบริเวณที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ หากเกิดการปะทุจริง ในเบื้องต้นทางการจะปิดท่าอากาศยานระหว่างประเทศเคฟลาวิก และประกาศพื้นที่อันตรายในรัศมี 200 กิโลเมตรจากจุดปะทุ ด้านสำนักงานตำรวจไอซ์แลนด์แจ้งว่า เนื่องจากพบการสั่นสะเทือนทางตอนใต้ของภูเขาไฟเคลีร์ แม้ยังไม่พบการปะทุ แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงจึงสั่งห้ามการจราจรในละแวกใกล้เคียงทั้งหมด รวมถึงการบินโดรนด้วย
ไอซ์แลนด์เคยเกิดภูเขาไฟปะทุใหญ่ในปี 2553 หลังเกิดแผ่นดินไหวหลายพันครั้งเป็นเวลาหนึ่งเดือนคล้ายกับในขณะนี้ เป็นภูเขาไฟเอยาฟตลาเยอคุตล์ ทางตอนใต้ของประเทศที่ปะทุครั้งแรกในรอบเกือบ 200 ปี ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพออกจากบ้านเรือน เที่ยวบินระหว่างประเทศของหลายประเทศถูกยกเลิกไปร่วม 900,000 เที่ยว.-สำนักข่าวไทย