ปักกิ่ง 7 ก.พ.- นักสังเกตการณ์เตือนว่า รัฐประหารในเมียนมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ควรเป็นเครื่องเตือนใจนักลงทุนชาวจีนที่จะให้เงินสนับสนุนโครงการในต่างประเทศว่า ควรพิจารณาเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจำเป็นต้องมีการสอบทานธุรกิจ
นักวิจัยของสถาบันไท่เหอในกรุงปักกิ่งชี้ว่า นางออง ซาน ซู จี ดูเหมือนจะอยู่ในจุดที่มั่นคงมากเพราะอยู่ในอำนาจมา 5 ปี และพรรคของเธอชนะการเลือกตั้ง แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปจะเห็นว่ากองทัพยังคงทรงอำนาจและเมียนมายังคงมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์สูงอยู่ บริษัทจีนที่ทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไม่กี่แห่งที่ประเมินความเสี่ยงเมื่อเทียบกับบริษัทญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพราะชอบที่จะสร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้การลงทุนเปราะบางเมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เรื่องนี้เห็นได้ชัดมากกับการลงทุนในเมียนมาและกัมพูชา กรณีกัมพูชาดูเหมือนมั่นคงเพราะนายกรัฐมนตรีฮุน เซนยังอยู่ในอำนาจอีกนาน แต่ทันทีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจจะเกิดผลกระทบทางสังคม รวมถึงบรรยากาศการลงทุนอย่างใหญ่หลวง นักลงทุนจีนจึงควรประเมินล่วงหน้าอย่างดีและมองในระยะยาว
ด้านนักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยความปลอดภัยโพ้นทะเลของจีนแนะว่า นักลงทุนจีน โดยเฉพาะบริษัทของรัฐจะต้องประเมินโอกาสที่จะถูกลูกหลงอย่างรอบคอบ โดยยกตัวอย่างเรื่องที่นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดของมาเลเซียขู่ในปี 2561 ว่าจะยกเลิกโครงการทางรถไฟที่จีนสนับสนุนและลงนามไปในสมัยรัฐบาลนาจิบ ราซักว่า แม้มีการจรจาใหม่ในภายหลังแต่ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อความริเริ่มเส้นทางสายไหมในศตวรรษใหม่ (Belt and Road Initiative) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สำหรับกรณีของเมียนมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐขู่จะคว่ำบาตร ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อธุรกิจจีน หากสหรัฐคว่ำบาตรบริษัทที่ทำธุรกิจกับเมียนมา เหมือนที่คว่ำบาตรบริษัทที่ทำธุรกิจกับอิหร่านมาแล้ว.-สำนักข่าวไทย