วอชิงตัน 27 ธ.ค.- ชาวอเมริกันหลายล้านคนจะไม่ได้รับสวัสดิการว่างงานฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดลงในวันเสาร์ตามเวลาสหรัฐ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ลงนามร่างกฎหมายบรรเทาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และงบประมาณรายจ่าย
ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ลงนามร่างกฎหมาย 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 69 ล้านล้านบาท) ที่ประกอบด้วยเงินบรรเทาผลกระทบโควิด 892,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26.76 ล้านล้านบาท) ที่ครอบคลุมถึงการขยายสวัสดิการว่างงานฉุกเฉินที่จะหมดอายุในวันที่ 26 ธันวาคมตามเวลาสหรัฐ และงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลตามปกติ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 42 ล้านล้านบาท) ข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า จะมีชาวอเมริกันว่างงาน 14 ล้านคนไม่ได้รับสวัสดิการว่างงานฉุกเฉิน ขณะที่การปิดที่ทำการรัฐบาลหรือชัตดาวน์บางส่วนจะเริ่มในวันที่ 29 ธันวาคมตามเวลาสหรัฐ เสี่ยงกระทบต่อรายได้ของลูกจ้างของรัฐบาล
ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตว่า ที่ไม่ลงนามเพราะต้องการให้ประชาชนได้รับเงินช่วยเหลือจากร่างนี้คนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60,000 บาท) ไม่ใช่ 600 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,000 บาท) เท่านั้น ด้านโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 แถลงเรียกร้องให้ทรัมป์รีบลงนามทันที การละทิ้งความรับผิดชอบเช่นนี้ก่อผลร้ายแรงติดตามมา เขาจะหารือกับคณะที่ปรึกษาช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในวันนี้
สมาชิกสภาพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตตกลงร่างกฎหมายมูลค่ามหาศาลนี้ได้เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากโต้เถียงกันมาหลายเดือน และผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาไปเมื่อวันจันทร์ การที่ทรัมป์ไม่ลงนามทำให้สมาชิกสภาเตรียมกลับมาประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งที่ปกติแล้วจะเลื่อนการประชุมในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม สภาผู้แทนราษฎรที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากจะลงมติร่างกฎหมายสั่งจ่ายเช็คให้ประชาชนครั้งเดียวคนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60,000 บาท) ส่วนร่างกฎหมายกลาโหมมูลค่า 740,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22.2 ล้านล้านบาท) ที่ทรัมป์ใช้สิทธิวีโต้ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน สภาผู้แทนจะลงมติลบล้างในวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐ หากผ่านก็จะเปิดทางให้วุฒิสภาลงมติลบล้างได้ในวันอังคาร ทั้งสองสภาต้องการเพียงเสียงข้างมากสองในสามก็สามารถลบล้างสิทธิวีโต้ของประธานาธิบดีได้.-สำนักข่าวไทย