ปารีส 27 ต.ค. – งานวิจัยเผยว่า ปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาวอาจมีความเชื่อมโยงกับผู้เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลกถึงร้อยละ 15
ผลวิจัยของผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมนีและไซปรัสพบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่เผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศในระดับสูงสุดของโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ถึงร้อยละ 27 ที่เป็นผลมาจากคุณภาพอากาศย่ำแย่ ส่วนทวีปยุโรปมีอัตราส่วนร้อยละ 19 และทวีปอเมริกาเหนือมีร้อยละ 17 ผลการศึกษาดังกล่าวยังระบุว่า หากปัญหามลพิษทางอากาศในระยะยาวทับซ้อนกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา จะยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านปอดและหัวใจมากยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อความก้าวหน้าแห่งศาสตร์ของเยอรมนีเผยว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้โรคโควิด-19 มีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 กว่า 6,100 คนในอังกฤษ และราว 40,000 คนในสหรัฐที่เป็นผลมาจากปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งยังให้ความเห็นว่า หากประเทศต่าง ๆ ยังไม่ประกาศใช้นโยบายที่เปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ปัญหามลพิษทางอากาศจะยังคงเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอีกมากแม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะหมดไปแล้วก็ตาม. – สำนักข่าวไทย