ปารีส 12 ก.พ.- ศูนย์การวิจัยพลังงานและอากาศสะอาดและกลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกรายงานวันนี้ว่า มลพิษทางอากาศอันเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสร้างความเสียหายให้แก่โลกมากถึงวันละ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 249,429 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) โลก
รายงานระบุว่า ปี 2561 จีนแผ่นดินใหญ่ สหรัฐ และอินเดียเสียหายมากที่สุดราว 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28 ล้านล้านบาท) 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18.7 ล้านล้านบาท) และ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.67 ล้านล้านบาท) ตามลำดับเมื่อเทียบกับทั้งโลกที่เสียหาย 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90.38 ล้านล้านบาท) อนุภาคจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 4.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นคนในจีน 1.8 ล้านคนและในอินเดีย 1 ล้านคน สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่า แต่ละปีมีคนเสียชีวิต 4.2 ล้านคนเพราะมลพิษทางอากาศระดับพื้น ส่วนใหญ่เป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็งปอด และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในเด็ก
รายงานหนา 44 หน้าแจกแจงความเสียหายตามประเภทมลพิษและตามรายชื่อประเทศว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) สร้างความเสียหายมากที่สุดกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 62.33 ล้านล้านบาท) ต่อปี วัดจากผลกระทบทางสุขภาพ จำนวนวันที่ต้องหยุดงาน และจำนวนปีของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 3 ล้านคน เด็กเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ขวบปีละ 40,000 คน เพราะสามารถฝังลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อปอดแล้วเข้าสู่กระแสเลือด เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดและหัวใจ องค์การอนามัยโลกกำหนดในปี 2556 ให้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง.- สำนักข่าวไทย