สตอกโฮล์ม 9 ต.ค.- ราชบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์สวีเดนประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2562 ให้แก่นักวิจัยสามคนที่ทำให้เกิดการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน สร้างโลกที่สามารถอัดประจุเชื้อเพลิงใหม่ได้
แถลงข่าวของราชบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์สวีเดนระบุว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปีนี้ได้แก่ เอ็ม สแตนลีย์ วิตทิงแฮม นักเคมีชาวอเมริกันเชื้อสายอังกฤษวัย 77-78 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม จอห์น บี กูดนัฟ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันวัย 97 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยเทกซัสที่ออสติน และอากิระ โยชิโนะ นักเคมีชาวญี่ปุ่นวัย 71 ปี อาจารย์มหาวิทยาลัยเมโจ จากผลงานการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีขนาดเบา อัดประจุใหม่ได้ และทรงพลัง ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกเพื่อให้พลังงานแก่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่ผู้คนใช้ในการสื่อสาร ทำงาน เรียน ฟังเพลง และสืบค้นหาความรู้ เอื้อให้มีการพัฒนารถไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางไกล และสามารถเก็บพลังงานจำนวนมากจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์และลม ปูทางไปสู่สังคมปลอดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
การวางพื้นฐานการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติน้ำมันช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 เมื่อวิตทิงแฮมค้นพบไทเทเนียมไดซัลไฟด์ ซึ่งเป็นวัสดุอุดมด้วยพลังงานมหาศาล นำมาใช้สร้างขั้วแคโทด ขั้วไฟฟ้าขั้วหนึ่งของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ต่อมากูดนัฟได้สาธิตในปี 2523 ว่า ขั้วแคโทดที่ทำจากโคบอลต์ออกไซด์สามารถกักเก็บพลังงานได้มากกว่าไทเทเนียมไดซัลไฟด์ จากนั้นโยชิโนะได้นำแคโทดแบบกูดนัฟมาผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่สามารถใช้เชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี 2528 และใช้วัสดุคาร์บอนทำขั้วแอโนด ที่เป็นขั้วไฟฟ้าอีกขั้วหนึ่ง ทำให้แบตเตอรี่มีน้ำหนักเบา ทนทาน สามารถอัดประจุใหม่ได้หลายร้อยครั้งกว่าจะเสื่อมสภาพ จนกระทั่งมีการผลิตออกสู่ตลาดในปี 2534 เป็นรากฐานให้แก่การสร้างสังคมไร้สายที่ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิล.-สำนักข่าวไทย