บริสตอล 23 ก.ค.- ปี 2567 ที่ผ่านมาไม่เพียงเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังเป็นปีที่ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เสี่ยงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของหลายประเทศ โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ไอโอพีไซเอินซ์ (IOPscience) ซึ่งเป็นบริการออนไลน์ของวารสารที่ตีพิมพ์โดยไอโอพีพับลิชชิง (IOP Publishing) สำนักพิมพ์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีสำนักงานใหญ่ที่สหราชอาณาจักร ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยฉบับใหม่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมของนายแม็กซิมิลิอัน ค็อตซ์ และคณะ (Maximilian Kotz et al) เรื่องสภาพอากาศสุดขั้ว ราคาอาหารพุ่ง และความเสี่ยงทางสังคมในวงกว้าง ข้อมูลจากรายงานระบุว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หลังจากที่ได้ทบทวนงานวิจัยจากหลายประเทศ และถือว่าใกล้ถึงขีดอันตรายที่รัฐบาลนานาชาติรับปากไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2558 ว่า จะช่วยกันจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม อุณหภูมิที่พุ่งสูงไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่มาพร้อมกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ทั้งน้ำท่วมใหญ่ในยุโรป คลื่นความร้อนคร่าชีวิตผู้คนในเม็กซิโกและซาอุดีอาระเบีย ภัยแล้งในอิตาลีและอเมริกาใต้ พายุไซโคลนถล่มสหรัฐและฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติเหล่านี้รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น และหนึ่งในผลกระทบที่ประชาชนทั่วโลกสัมผัสได้ชัดเจนที่สุดคือ ราคาสินค้าอาหารที่พุ่งสูงขึ้น […]