ญาจาง 10 ก.ย.- โครงการยุงโลกได้ทดลองเพาะเลี้ยงยุงที่มีแบคทีเรียต้านโรคไข้เลือดออกในเวียดนาม ผลการทดลองเบื้องต้นได้ผลน่าพอใจ หวังแก้ปัญหาไข้เลือดออกระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังรุนแรงในปีนี้เพราะอากาศร้อนขึ้นและคนมีภูมิต้านทานต่ำต่อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่
โครงการยุงโลกทดลองนำยุงลายตัวผู้และยุงตัวเมียมาทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียแล้วปล่อยออกสู่ธรรมชาติ หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ลูกยุงลายเกิดใหม่ล้วนมีเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ ทำให้ไม่ส่งต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออก รวมถึงเชื้อไวรัสไข้ซิกา ไข้ชิคุนกุนยาและไข้เหลืองด้วย เริ่มทดลองครั้งแรกทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ขณะนี้ทดลองใน 9 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือเวียดนาม คณะนักวิจัยในเมืองญาจาง ทางตอนกลางค่อนไปทางใต้เผยว่า ปีที่แล้วได้ปล่อยยุงที่มีเชื้อแบคทีเรียวูลบัคเคียประมาณ 500,000 ตัวในเขตวินห์เลืองที่มีคนหนาแน่นและมีแนวโน้มป่วยเป็นไข้เลือดออกสูง พบว่าจำนวนผู้ป่วยลดลงถึงร้อยละ 86 ปัจจุบันเขตนี้ยังคงมียุงชุม แต่ส่วนใหญ่มีเชื้อแบคทีเรียต้านไวรัสแล้ว เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ไม่มียุงที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เลยแม้แต่ตัวเดียว
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกและข้อมูลระดับประเทศพบว่า ปีนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 670,000 คน เสียชีวิตกว่า 1,800 คน เป็นการระบาดร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปี ปัจจัยหนึ่งเกิดจากอากาศที่ร้อนขึ้น อุณหภูมิเดือนกรกฎาคมปีนี้ร้อนเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ยุง อีกทั้งยังมีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ๆ ระบาดในกลุ่มคนที่มีไม่มีภูมิต้านทาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากการที่เมืองต่าง ๆ ในเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็ว การค้าและการเดินทางข้ามประเทศเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และการทิ้งภาชนะต่าง ๆ ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง.- สำนักข่าวไทย