สิงคโปร์ 5 ก.ย.- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่ผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 242 คนภายใน 1 สัปดาห์เป็นสัญญาณเตือนว่า เชื้อนี้มีโอกาสแพร่อย่างรวดเร็วทั่วเอเชีย
กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์แถลงเมื่อวันเสาร์ว่า ผลการวิเคราะห์ผู้ป่วย 2 ราย พบว่าน่าจะติดเชื้อที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ที่แพร่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นอ้างศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรปว่า สิงคโปร์ไม่ใช่ประเทศเดียวในเอเชียที่พบผู้ติดเชื้อซิกา ไทยเองก็มีรายงานการแพร่เชื้อในวงกว้างในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
รองผู้อำนวยการโครงการโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยดุ๊ก-มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า เอเชียมีมหานครที่มีประชากรตั้งแต่ 5-10 ล้านคน เป็นชุมชนเมืองที่มีประชากรแออัด เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อซิกาและเชื้อไข้เลือดออกเดงกี่ ซึ่งสามารถวางไข่ในน้ำนิ่งได้ทุกแห่งตั้งแต่แจกันดอกไม้ไปจนถึงภาชนะเก็บน้ำขนาดใหญ่ มาตรการควบคุมยุงจึงต้องปรับไปตามแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ปีที่แล้วรัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มงบประมาณ 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,500 ล้านบาท) ในการวิจัย ป้องกันและรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน 5.7 ล้านคนเรื่องไข้เลือดออกเดงกี่ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมอย่างได้ผล
ด้านนักวิชาการผู้ร่วมในการศึกษาที่ประเมินว่า เอเชียและแอฟริกามีผู้เสี่ยงติดเชื้อซิกามากถึง 2,600 ล้านคนเผยว่า ประเมินจากความสามารถด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ จำนวนการเดินทางจากพื้นที่ที่เชื้อกำลังแพร่ระบาด และประชากรที่อาศัยในพื้นที่ที่เชื้ออาจแพร่จากในประเทศพบว่า อินเดีย จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย เวียดนาม และบังกลาเทศเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด นักวิชาการหวังว่า ผลการวิจัยนี้จะช่วยให้รัฐบาลประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณสุขมีการพัฒนาน้อยสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเชื้อซิการะบาด และเป็นการกระตุ้นเตือนประชาคมโลกให้ถือว่าซิกาเป็นโรคระบาดระดับโลกเพื่อช่วยกันหาทางแก้ไข.-สำนักข่าวไทย