ญี่ปุ่น 7 ก.ย.-มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีส่วนปลุกกระแสความนิยมฝึกคาราเต้ ศิลปะป้องกันตัวประจำชาติญี่ปุ่น ในหมู่เด็กญี่ปุ่นได้อย่างไร ติดตามในสารคดีโลก
นักเรียนหญิงของโรงเรียนมัธยมต้นเทอิเคียวในกรุงโตเกียวกลุ่มนี้กำลังฝึกฝนคาราเต้อย่างมุ่งมั่นจริงจัง ภายใต้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากอายูมิ ฮอนดะ ครูผู้ฝึก ซึ่งพยายามปรับปรุงตารางการฝึกซ้อมที่แม้จะเข้มงวดแต่ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพื่อให้เด็กๆ ไม่เบื่อหน่ายหรือท้อแท้จนถอดใจไม่ฝึกอีก
อย่างไรก็ตาม นับต่อจากนี้ฮอนดะไม่จำเป็นต้องพะวงว่าตารางการฝึกจะหนักเกินไปอีกแล้ว เนื่องจากเด็กๆ มีเป้าหมายแรงจูงใจมุ่งมั่นของตนเอง นั่นคือการเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกปี 2563 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และยังจะเป็นครั้งแรกที่ “คาราเต้” ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการโอลิมปิกให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่มีการแข่งขัน หลังสมาพันธ์คาราเต้ของญี่ปุ่น และสมาพันธ์คาราเต้สากล เพียรพยายามผลักดันและต้องล้มเหลวไปถึง 3 ครั้ง
ฮอนดะยอมรับว่า ตั้งแต่ที่ทราบกันว่าจะมีการแข่งคาราเต้ในโอลิมปิกครั้งหน้า เด็กๆ มากมาย ทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายต่างแห่แหนมาเรียนคาราเต้มากขึ้น โดยเด็กส่วนใหญ่ต่างตั้งเป้าหมายที่จะติดทีมชาติเป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันคาราเต้ในโอลิมปิก หลังเห็นนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมากมาย
แม้จะดีใจที่ทำให้คาราเต้ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่แข่งขันในโอลิมปิก หลังเป็นที่ยอมรับ และได้รับความนิยมฝึกฝนจากผู้คนทั่วโลก แต่ ชูจิ คูซากะ เลขาธิการสมาพันธ์คาราเต้ญี่ปุ่น กลับมองว่าเป็นความยินดีที่มาพร้อมแรงกดดันมหาศาล เพราะในฐานะชาติผู้คิดค้นศิลปะการต่อสู้แขนงนี้ คาราเต้กลายเป็นกีฬาที่ได้รับการคาดหวังอย่างมากจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศว่านักกีฬาของประเทศตนจะช่วยเชิดหน้าชูตาด้วยการกวาดเหรียญทองมาให้ชื่นชม.-สำนักข่าวไทย