แทมปา 11 ส.ค.- องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐเลื่อนการส่งยานสำรวจมุ่งตรงไปดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกของโลกไปเป็นวันพรุ่งนี้ จากเดิมกำหนดปล่อยวันนี้เพื่อไขปริศนาความลับของโคโรนา ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์
ยานปาร์เกอร์โซลาร์โพรบขนาดเท่ารถยนต์ มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 49,960 ล้านบาท) กำหนดทะยานขึ้นไปพร้อมกับจรวดเดลต้าโฟร์เฮฟวีที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดาในเวลา 04.28 น.วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 15.28 น.วันนี้ตามเวลาในไทย แต่นาซาได้ประกาศเลื่อนในช่วงไม่กี่นาทีก่อนถึงกำหนดว่า จะเปลี่ยนไปปล่อยในเช้าวันอาทิตย์แทน
ยานไร้มนุษย์ลำนี้จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ภารกิจหลักคือไขปริศนาของโคโรนาซึ่งเป็นจุดที่เชื่อกันว่าพายุสุริยะเร่งความเร็วขึ้น เหวี่ยงเอาอนุภาคมีพลังและพลาสมาซึ่งเป็นแก๊สพลังงานสูง ทำให้เกิดพายุแม่เหล็กอวกาศที่สามารถสร้างความเสียหายต่อเครือข่ายไฟฟ้าบนโลก ยานสำรวจลำนี้จึงจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ได้แม่นยำขึ้นว่าความแปรปรวนของพายุสุริยะจะมีผลต่อโลกเมื่อใด อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจสำรวจดวงจันทร์หรือดาวอังคารอย่างลึกซึ้งในอนาคต
โคโรนาร้อนกว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์กว่า 300 เท่า ยานปาร์เกอร์โซลาร์โพรบจึงต้องใช้เกราะกันความร้อนทรงพลังอย่างยิ่งที่หนาเพียง 4.5 นิ้วเท่านั้น ทำให้สามารถเข้าใกล้ในระยะห่างจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ 6.16 ล้านกิโลเมตร และสามารถต้านทานรังสีได้เทียบเท่ากับรังสีที่ดวงอาทิตย์แผ่มายังโลกถึง 500 เท่า ยานจะเคลื่อนผ่านโคโรนาทั้งหมด 24 ครั้งตลอดภารกิจนาน 7 ปี ช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ยานสำรวจจะเดินทางด้วยความเร็ว 688,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถเดินทางจากนครนิวยอร์กของสหรัฐไปกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นได้ในเวลาเพียง 1 นาที ถือเป็นวัตถุมนุษย์สร้างขึ้นที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดในโลก ชื่อของยานตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายยูจีน ปาร์กเกอร์ นักฟิสิกส์ดวงอาทิตย์วัย 91 ปี ผู้อธิบายเรื่องพายุสุริยะเป็นคนแรกในปี 2501.-สำนักข่าวไทย