สปป.ลาว 4 ต.ค. – ลาว-ไทยมีมรดกตกทอดทางวัฒนธรรมร่วมกันคือ “หมอลำ” ซึ่งเป็นสื่อทางวัฒนธรรมในการพัฒนาความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ ที่ผ่านมาศิลปินหมอลำไทย-ลาว ร่วมถึงนักประพันธ์ นักดนตรี ได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงอัตลักษณ์ด้านศิลปะวัฒนธรรม หนึ่งในเสาหลักสำคัญของการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
เสียงขับร้องหมอลำของศิลปินหมอลำชาวลาว และศิลปินหมอลำจากประเทศไทย มีความไพเราะ ท่วงทำนอง ลีลา เนื้อหากลอนลำงดงามไม่ต่างกัน นับเป็นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่าย สานสัมพันธ์วรรณกรรมไทย-ลาว ปีนี้จัดเวทีพบปะในหัวข้อ “ขับ-ลำ มรดกล้านช้าง” ณ เมืองไกรสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
หัวใจสำคัญของหมอลำ คือ บทกลอน หรือกลอนลำ ที่หมอลำนำมาขับร้อง เขียนโดยนักประพันธ์หรือตัวหมอลำเอง เนื้อหากลอนลำมีหลากหลาย เช่น วิถีชีวิต นิทานพื้นบ้าน คำสอนโบราณ กลอนลำของไทยและลาวมีความใกล้เคียงกัน ข้อมูลจากศิลปินหมอลำไทยและลาวพบว่า ประเทศไทยนักประพันธ์กลอนลำลดน้อยลง สวนทางกับลาวที่นักประพันธ์กลอนลำมีมากขึ้น
“หมอลำ” สองฝั่งโขงไทย-ลาวมีความเหมือนและความต่างกันตามสำเนียงภาษาของแต่ละท้องถิ่น ศิลปินสองประเทศพยายามร่วมกันอนุรักษ์พัฒนาให้หมอลำอยู่คู่สองฝั่งโขง. – สำนักข่าวไทย