คิกาลี 15 ต.ค.- ผู้เจรจาทั่วโลกตกลงกันในวันนี้เรื่องตารางเวลาที่จะทยอยเลิกใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (เอชเอฟซี) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ และเป็นก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก อันเป็นก้าวสำคัญในการหยุดยั้งภาวะโลกร้อน
ผู้เจรจาหารือกันตลอดคืนที่ผ่านมาที่กรุงคิกาลีของรวันดา จนกระทั่งสามารถเห็นพ้องเรื่องการแก้ไขพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนปี 2530 ได้ข้อตกลงเรื่องการทยอยเลิกผลิตและใช้สารเอชเอฟซี โดยกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการใช้สารเอชเอฟซีจากระดับการใช้ในปี 2554-2556 ลงให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2562 จากนั้นต้องลดให้ร้อยละ 85 ภายในปี 2579 ส่วนประเทศกำลังพัฒนากลุ่มที่ 2 ซึ่งมีจีนและประเทศในแอฟริการวมอยู่ด้วยจะต้องเริ่มดำเนินการในปี 2567 โดยต้องลดจากระดับการใช้ในปี 2563-2565 ให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2572 จากนั้นต้องลดให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี 2588 และประเทศกำลังพัฒนากลุ่มที่ 3 ซึ่งมีอินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน อิรักและประเทศในอ่าวอาหรับรวมอยู่ด้วยจะต้องเริ่มดำเนินการในปี 2571 โดยต้องลดจากระดับการใช้ในปี 2567-2569 ให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี 2575 จากนั้นต้องลดให้ได้ร้อยะ 85 ภายในปี 2590
สารเอชเอฟซีถูกนำมาใช้ในช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1990 แทนสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) ที่พิธีสารมอนทรีออลตกลงให้เลิกใช้เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่าทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ที่ช่วยปกป้องโลกจากรังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) อันตรายที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพบว่าแม้เอชเอฟซีไม่ทำลายโอโซนแต่กลับทำให้โลกเกิดภาวะเรือนกระจกหลายพันเท่าเมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญ ผลการศึกษาของห้องทดลองแห่งชาติเบิร์กลีย์พบว่า เครื่องปรับอากาศเป็นแหล่งที่ทำให้มีการใช้เอชเอฟวีมากที่สุด และคาดว่าทั่วโลกจะใช้เครื่องปรับอากาศมากถึง 700 ล้านเครื่องภายในปี 2573 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนไปใช้สารทำความเย็นอย่างอื่นแทนเอชเอฟซี เช่น แอมโมเนีย น้ำ หรือก๊าซไฮโดรฟลูออโรโอเลฟิน (เอชเอฟโอ) เป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีและงบประมาณจำนวนมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา.-สำนักข่าวไทย