ธรรมศาลา 2 ก.ค.- การคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งดาไล ลามะ ซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขคณะสงฆ์ของศาสนาพุทธในทิเบต นอกจากเป็นที่ติดตามอย่างยิ่งสำหรับสาวกผู้ศรัทธาแล้ว ยังเป็นที่ติดตามของจีน อินเดีย และสหรัฐด้วยเหตุผลเชิงยุทธศาสตร์
ดาไล ลามะ องค์ปัจจุบันซึ่งเป็นองค์ที่ 14 มีชื่อเดิมว่า ลามะ โทนดุบ จะมีอายุครบ 90 พรรษา ในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ เป็นลูกชาวนา บ้านเกิดอยู่ในพื้นที่ที่เป็นมณฑลชิงไห่ของจีนในปัจจุบัน และได้รับการรับรองจากคณะผู้ค้นหาของรัฐบาลทิเบตว่า เป็นดาไล ลามะองค์ที่ 13 กลับชาติมาเกิด ขณะที่มีอายุได้เพียง 2 ขวบ จากนั้นได้ย้ายไปยังพระราชวังโปตาลา กรุงลาซาในปี 2483 ขณะมีอายุ 5 ขวบเศษ และได้รับการสถาปนาเป็นผู้นำจิตวิญญาณของชาวทิเบตอย่างเป็นทางการ ทรงลี้ภัยอยู่ในเมืองธรรมศาลา ทางเหนือของอินเดียมาตั้งแต่ปี 2502 หลังจากประสบความล้มเหลวในการลุกฮือต่อต้านการปกครองของรัฐบาลจีนสมัยเหมา เจ๋อตุง
ดาไล ลามะ องค์ปัจจุบันระบุในหนังสือชื่อ Voice for the Voiceless ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษและวางจำหน่ายเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ว่า ผู้สืบทอดตำแหน่งองค์ถัดไปจะเกิดนอกประเทศจีน ทรงขอให้ชาวทิเบตไม่ยอมรับผู้ที่ถูกเลือกด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองจากผู้ใด รวมถึงผู้ที่อยู่ในจีน และจะทรงเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ในช่วงที่มีอายุครบ 90 พรรษา
และในวันนี้ทรงได้ปิดฉากการรอคอยนานหลายปีด้วยการประกาศว่า ตำแหน่งดาไล ลามะจะยังคงอยู่ต่อไปและมูลนิธิกาเดน โปดรังแห่งดาไล ลามะ (The Gaden Phodrang Foundation of the Dalai Lama) ที่ทรงตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อดูแลธรรมเนียมประเพณีและตำแหน่งดาไล ลามะ คือ ผู้มีอำนาจสิทธิขาดในการรับรองการกลับชาติมาเกิดของพระองค์เป็นดาไล ลามะองค์ที่ 15
ด้านจีนยืนกรานมาตลอดว่า คณะผู้นำจีนมีสิทธิในการอนุมัติผู้สืบทอดตำแหน่งดาไล ลามะ มาตั้งแต่สมัยเป็นจักรวรรดิจีน ซึ่งมีเฟ้นหาผู้กลับชาติมาเกิด จากการจับสลากรายชื่อในโถทองคำตั้งแต่ปี 2336 ในสมัยราชวงศ์ชิง ทางการจีนย้ำว่า จะต้องใช้กฎหมายจีนที่กำหนดเรื่องการใช้โถทองคำและการกลับชาติมาเกิดภายในดินแดนจีนเท่านั้น
ดาไล ลามะ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2532 จากความพยายามรักษาความเป็นทิเบต แต่รัฐบาลจีนตราหน้าว่า เป็นพวกแยกดินแดน และห้ามมีภาพถ่ายหรือแสดงความศรัทธาต่อดาไล ลามะ ในที่สาธารณะ ขณะที่ในอินเดียมีชาวทิเบตพุทธอาศัยอยู่อย่างอิสระอยู่ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน และมีชาวอินเดียจำนวนมากที่ศรัทธาพระองค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชี้ว่า การให้ที่ลี้ภัยแก่ดาไล ลามะทำให้รัฐบาลอินเดียมีแต้มต่อกับจีน ส่วนสหรัฐย้ำเรื่องมุ่งมั่นปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวทิเบต ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐลงนามกฎหมายในปี 2567 กดดันรัฐบาลจีนให้แก้ไขข้อพิพาทตามที่ทิเบตเรียกร้องขออำนาจในการปกครองตนเองเพิ่มมากขึ้น หลังจากถูกจีนผนวกเป็นส่วนหนึ่งตั้งแต่ปี 2493.-814.-สำนักข่าวไทย